Translate

วันอังคารที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2560

พระสุตตันตปิฎก - ชาลิยสูตร





พระไตรปิฎก - พระสุตตันตปิฎก - ชาลิยสูตร

ชาลิยสูตร อยู่ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๙ ทีฆนิกาย สีลขันธวัคค์ เป็นสุตตันตปิฎก



๗.ชาลิยสูตร
สูตรว่าด้วยข้อความที่ตรัสโต้ตอบชาลิยปริพพาชก


*********************************************************************************



                      พระผู้มีพระภาคประทับ ณ โฆษิตาราม กรุงโกสัมพี นักบวช ๒ คน คือ มัณฑิยปริพพาชก กับชาลิยะ ผู้เป็นศิษย์ของอาจารย์ผู้ใช้บาตรไม้ (ชาลิยะ ทารุปัตติกะ) ได้มาเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า กราบทูลถามปัญหาว่า ชีวะ (สภาพที่เป็นอยู่ หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ สภาพที่ครองสรีระ ในบางลัทธิเรียกจิตบ้าง อัตตาบ้าง กับสรีระ (ร่างกาย) เป็นอันเดียวกัน หรือเป็นคนละอัน
                พระผู้มีภาคตรัสตอบ บรรยายคุณลักษณะของผู้ออกบวช ตั้งอยู่ในศีล บำเพ็ญสมาธิจนได้ฌาน ตั้งแต่ที่ ๑ ถึง ๔ และได้วิชชส ๘ (ตามที่กล่าวไว้แล้วในสามัญญผลสูตร) แล้วตรัสว่า ภิกษุผู้รู้เห็นอย่างนี้ ไม่ควรกล่าวว่า ชีวะ กับสรีระ เป็นอันเดียวกัน หรือกล่าวว่า ชีวะ กับสรีระ เป็นคนละอัน พระองค์เองทรงรู้ทรงเห็นอย่างนี้ จึงไม่ตรัสว่า ชีวะ กับสรีระ เป็นอันเดียวกันหรือต่างกัน
                (มีคำอธิบายว่า การยืนยันว่า ชีวะ กับสรีระ เป็นอันเดียวกัน ย่อมตกไปในส่วนสุดข้างสัสสตทิฏฐิ ความเห็นว่า สิ่งทั้งปวงเที่ยง การยืนยันว่า ชีวะ กับสรีระ เป็นคนละอัน ย่อมตกไปในฝ่ายที่ว่าชีวะเที่ยง สรีระไม่เที่ยง ทั้งสองข้อนี้ รวมอยู่ในทิฏฐิ ๖๒)


                เมื่อจบพระธรรมเทศนา นักบวช ๒ คนชื่นชมภาษิตของพระผู้มีพระภาค










วันพฤหัสบดีที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2560

พระสุตตันตปิฎก - มหาลิสูตร

       

                                           พระไตรปิฎก - พระสุตตันตปิฎก - มหาลิสูตร

 อยู่ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๙ ทีฆนิกาย สีลขันธวัคค์ เป็นสุตตันตปิฎก



๖.มหาลิสูตร
สูตรว่าด้วยการโต้ตอบกับเจ้าลิจฉวีชื่อมหาลิ

*********************************************************************************
                

พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ศาลาเรือนยอด ป่ามหาวัน กรุงไพศาลี พวกพราหมณ์ที่เป็นทูตชาวโกศลและชาวมคธมากหลาย    มีธุระไปพักอยู่ในกรุงไพศาลี ได้ทราบข่าวจึงจะพากันไปเฝ้า เจ้าลิจฉวีชื่อ โอฏฐัทธะ (ปากแหว่ง)    พร้อมด้วยบริษัทก็ไปเฝ้าด้วย
                สมัยนั้น พระนาคิตะ เป็นพุทธอุปฐาก ไม่ยอมให้เข้าเฝ้า อ้างว่าพระผู้มีพระภาคกำลังทรงหลีกเร้น (ทำความสงบ) อยู่ สามเณรสีหะจึงเจรจากับพระนาคิตะให้บุคคลเหล่านั้นเข้าเฝ้า พระนาคิตะเกี่ยงให้สามเณรสีหะไปกราบทูลเอง
                เมื่อสามเณรสีหะไปกราบทูล จึงตรัสสั่งให้ปูอาสนะที่ร่มเงาด้านหลังวิหาร เสด็จไปต้อนรับบุคคลเหล่านั้น
                เมื่อตรัสปราศรัยกับบุคคลทุกเหล่าที่เข้าเฝ้าแล้ว โอฏฐัทธะ ลิจฉวี ก็กราบทูลถามเรื่องตาทิพย์ หูทิพย์ ว่ามีหรือไม่ ตรัสตอบว่า มี แล้วทรงแสดงเหตุผลว่า สุดแต่กำลังสมาธิที่เจริญให้มาก  เพื่อให้มีตาทิพย์ หรือหูทิพย์ และตรัสว่า ภิกษุทั้งหลายมิได้ประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักของพระองค์เพื่อเจริญสมาธิ (ที่เป็นเหตุให้ได้ตาทิพย์หูทิพย์เหล่านั้น) เพราะยังมีธรรมที่สูงกว่านั้นที่ทำให้แจ้ง คือ ๑.การทำสัญโญชน์ (กิเลสที่ผูกมัด) ให้สิ้นไป ๓ ประการ อันทำให้เป็นพระโสดาบัน ๒. ทำสัญโญชน์ ๓ ประการนั้นให้สิ้น ทำราคะ โทสะ โมหะให้น้อยลง อันทำให้เป็นพระสกทาคามี ๓. ทำสัญโญชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการให้สิ้น อันทำให้เป็นพระอนาคามี ๔. ทำอาสวะให้สิ้น ทำให้แจ้งความหลุดพ้นเพราะสมาธิ (เจโตวิมุติ) และความหลุดพ้นเพราะปัญญา(ปัญญาวิมุติ )
๑. แสดงว่ากรุงไพศาลีนครหลวงของแคว้นในขณะนั้น เป็นศูนย์กลางการทูตที่ฝ่ายมคธและโกศลติดต่อด้วย
๒. การตั้งชื่อคนตามลักษณะร่างกายดูจะนิยมกันมาก เช่น กูฏทันตะ (ฟันเขยิน) ลกุณฎกภัททิยะ (ภัททิยะค่อม) กาฬุทายี (อุทายีดำ)
๓. ในที่นี้เป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่สูงกว่าหูทิพย์ ตาทิพย์ คือการทำกิเลสให้หมดเป็นขั้น ๆ ได้เป็นพระอริยบุคคล ตั้งแต่อย่างต่ำถึงสูงสุด คือเป็นพระอรหันต์ อันแสดงว่าฤทธิ์เดชมิใช่จุดประสงค์ทางพระพุทธศาสนา
                เมื่อโอฏฐัทธะ ลิจฉวี กราบทูลถามถึงข้อปฎิบัติที่ทำให้แจ้ง (บรรลุ) ธรรมเหล่านั้น ก็ตรัสแสดงมคครมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิ (ความเห็นชอบ) เป็นต้น มีสัมมาสมาธิ(ความตั้งใจมั่นชอบ) เป็นที่สุด
                ครั้นแล้วตรัสเล่าเรื่องมัณฑิยปริพพาชก กับชาลิยปริพพาชกไปทูลถามพระองค์ เรื่องชีวะ กับสรีระ มีข้อความอย่างเดียวกับข้อความในชาลิยสูตร ซึ่งจะกล่าวต่อจากสูตรนี้ เมื่อจบพระธรรมเทศนา โอฏฐัทธะ ลิจฉวี ก็ชื่นชมภาษิตของพระผู้มีพระภาค

      (หมายเหตุ โอฏฐัทธะ ลิจฉวี มีชื่อเดิมว่า มหาลิ เวลาพระผู้มีพระภาคโต้ตอบด้วย ก็ทรงใช้ชื่อมหาลิ)