Translate

วันศุกร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

พระสุตตันตปิฎก - โสณทัณฑสูตร


พระไตรปิฎก - พระสุตตันตปิฎก - โสณทัณฑสูตร

โสณทัณฑสูตร อยู่ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๙ ทีฆนิกาย สีลขันธวัคค์ เป็นสุตตันตปิฎก




๔.โสณทัณฑสูตร

สูตรว่าด้วยพราหมณ์ชื่อโสณทัณฑะ





          พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นอังคะ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จแวะพัก ณ กรุงจัมปา ประทับที่ริมฝั่งสระน้ำชื่อคัคครา
                ครั้งนั้นพราหมณ์ชื่อโสณทัณฑะได้รับพระราชทานจากพระเจ้าพิมพิสารให้ครองกรุงจัมปา พราหมณ์คฤหบดีชาวกรุงจัมปาได้ทราบว่าพระผู้มีพระภาคประทับ ณ ริมสระน้ำชื่อคัคครา และพระองค์เป็นผู้มีกิตติศัพท์ขจรขจายไปว่า เป็นพระอรหันตสัมมสัมพุทธเจ้าและอื่น ๆ อีก จึงชวนกันเดินทางไปเพื่อจะเฝ้าเป็นกลุ่ม ๆ
                โสณทัณฑพราหมณ์ซึ่งเข้านอนกลางวันชั้นบนปราสาท มองเห็นพราหมณ์คฆหบดีชาวกรุงจัมปาเดินทางไปเป็นกลุ่ม ๆ เช่นนั้น จึงเรียกมหาอำมาตย์ สนองโอฐ  (ขัตตะ) มาถาม ทราบความแล้ว จึงสั่งให้คนเหล่านั้นคอย เพื่อตนจะได้ร่วมเดินทางไปด้วย
                พวกพราหมณ์ชาวต่างแดนประมาณ ๕๐๐ คนที่มาพักในกรุงจัมปาด้วยกรณียกิจบางอย่าง ทราบว่าโสณทัรฑพราหมณ์จะไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ก็เข้าไปห้ามไว้ อ้างความยิ่งใหญ่ของโสณทัณฑพราหมณ์โดยชาติ โดยมรัยพ์ โดยความรู้ในไตรเพท โดยความเป็นผู้มีรูปงาม โดยศีล โดยมีวาจาไพเราะ โดยเป็นอาจารย์ของคนมาก โดยมีมาณพเป็นอันมากมาจากต่างทิศ ต่างชนบท เพื่อเรียนมนต์ โดยเป็นผู้แก่กว่าพระสมณโคดม โดยเป็นผู้ได้รับความเคารพนับถือจากพระเจ้าพิมพิสารและโปกขรสาติพราหมณ์ โดยเป็นผู้ครองกรุงจัมปา จึงไม่ควรไปหาพระสมณโคดม ควรที่พระสมณโคดมจะมาหามากกว่า
                โสณทัณฑพราหมณ์ตอบอ้างความยิ่งใหญ่ของพระผู้มีพระภาคโดยพระชาติ โดยละทรัพย์สมบัติ ออกผนวช โดยมีพระรูปงดงาม โดยมีศีล มีถ้อยคำไพเราะ โดยเป็นอาจารย์ของคนมาก โดยเป็นผู้สิ้นกามราคะ โดยเป็นกัมมวาที กิริยวาที (กล่าวว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ) โดยออกบวชจากสกุลกษัตริย์อันสูง ไม่เจือปน (สกุลอื่น) โดยออกบวชจากสกุลมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีคนจากรัฐอื่น จากชนบทอื่นมากราบทูลถามปัญหา มีเทพดาอเนกนับหลายพันพากันถึงพระสมณโคดมเป็นสรณะ มีกิตติศัพท์ขจรขจายไปว่า เป็นพระอรหันตสัมมสัมพุทธเจ้า เป็นต้น โดยประกอบด้วยมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ โดยทรงต้อนรับปราศรัยให้บันเทิง มีบริษัท ๔ เคารพนับถือ มีเทวาและมนุษย์ทั้งหลายเลื่อมใสยิ่ง ประทับในคามนิคมใด ๆ อมนุษย์ก็ไม่เบียดเบียนในที่นั้น โดยมีผู้กล่าวว่า ทรงเป็นคณาจารย์เลิศกว่าเจ้าลัทธิเป็นอันมาก มีพระยศเฟื่องฟุ้งไปเพราะความรู้ ความประพฤติ (วิชชา จรณะ) ไม่เหมือนสมณพราหมณ์เหล่านั้น. พระเจ้าพิมพิสาร พร้อมทั้งโอรส มเหสี บริษัทและอำมาตย์, พระเจ้าปเสนทิโกศล พร้อมทั้งโอรส ฯลฯ โปกขรสาติพราหมณ์  พร้อมทั้งบุตร ภริยา ฯลฯ ก็ถึงพระสมณโคดมเป็นสรณะ เมื่อเสด็จมา จึงชื่อว่าเป็นแขกที่เราจะพึงถวายความเคารพสักการะเพราะเหตุนี้ จึงไม่ควรที่จะให้พระองค์เสด็จมาหาเรา ควรที่เราจะไปเฝ้าพระองค์ เมื่อโสณทัณฑพราหมณ์กล่าวพรรณนาพระพุทธคุณอย่างนี้ พราหมณ์ที่คัดค้านก็กล่าวว่า ถ้าพระสมณโคดมเป็นเช่นที่ท่านกล่าวนี้ แม้อยู่ไกลร้อยโยชน์ก็ควรจะสะพายเสบียงเดินทางไปเฝ้า.
                ขณะที่ไปเฝ้านั้น โสณทัณฑพราหมณ์เกิดความปริวิตกว่า ตนจะถามปัญหาไม่ได้ดีบ้าง จะตอบปัญหาไม่ได้ดีบ้าง ครั้นจะไปพอใกล้แล้วกลับเสีย ก็จะถูกหาว่าเป็นคนโง่ จึงกลัวไม่กล้าเข้าใกล้บ้าง ความผิดพลาดแต่ละข้อนี้จะทำให้บริษัทจับผิด เป็นเหตุให้เสื่อมยศ เสื่อมทรัพย์.
                แต่พระผู้มีพระภาคทรงรู้วาระจิตของพราหมณ์ จึงทรงเลือถามปัญหาที่โสนทัณฑพราหมณ์เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ คือปัญหาในไตรเพท ซึ่งทำให้โสณทัณฑพราหมณ์ดีใจมาก คือตรัสถามว่า ผู้ประกอบด้วย คุณสมบัติกี่อย่างจึงบัญญัติว่าเป็นพราหมณ์ได้ และควรเรียกตัวเองได้ว่าเป็นพราหมณ์
                โสณทัณฑพราหมณ์ตอบว่า ๑.มีชาติดี คือเกิดจากมารดาบิดาเป็นพราหมณ์ สืบสายมา ๗ ชั่ว บรรพบุรุษ ๒. ท่องจำมนต์ในพระเวทได้ ๓.มีรูปงาม ๔.มีศีล ๕.เป็นผู้ฉลาดมีปัญญา
ตรัสถามว่า ใน ๕ อย่างนี้ ถ้าลดลงเสีย ๑ เหลือ ๔ พอจะกำหนดคุณสมบัติของผู้ควรเป็นพราหมณ์ได้หรือไม่. โสนทัณฑพราหมณ์ตอบว่า ตัดข้อมีผิวพรรณดีออก.
                ตรัสถามว่า ถ้าลดลงเสียอีก ๑ เหลือ ๓ จะลดอะไร โสณทัณฑพราหมณ์ลดข้อท่องจำมนต์
                ตรัสถามว่า ถ้าลดลงเสียอีก ๑ เหลือ ๒ จะลดอะไร โสณทัณฑพราหมณ์ลดข้อที่เกี่ยวกับชาติ คือ กำเนิดจากมารดาบิดาเป็นพราหมณ์
                พอลดข้อนี้ พวกพราหมณ์ที่มาด้วย ก็ช่วยกันขอร้องว่า อย่ากล่าวอย่างนี้น เพราะเป็นการกล่าวกระทบผิวพรรณ กระทบมนต์ กระทบชาติ จะเสียทีแก่พระสมณโคดม
                โสณทัณฑพราหมณ์ก็โต้ตอบว่า หลานของตนคืออังคกะมาณพที่นั่งอยู่ในที่ประชุมนี้ มีผิวพรรณดี ท่องจำมนต์ได้ดี เกิดจากมารดาบิดาทั้งสองฝ่าย ซึ่งเป็นพราหมณ์สืบต่อมา ๗ ชั่วบรรพบุรุษ แต่ก็ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ ดื่มน้ำเมา ผิวพรรณ มนต์ ชาติ จะทำอะไรได้ เมื่อใดพราหมณ์เป็นผู้มีศีล มีปัญญา รวม ๒ คุณสมบัตินี้ จึงควรบัญญัติว่าเป็นพราหมณ์ และควรเรียกตัวเองว่าเป็นพราหมณ์
                พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ถ้าลดเสีย ๑ เหลือ ๑ พอจะกำหนดคุณสมบัติของผู้ควรเป็นพราหมณ์ได้หรือไม่. โสณทัณฑพราหมณ์กราบทูลว่า ลดไม่ได้ เพราะศีลชำระปัญญา ปัญญาชำระศีล ในที่ใดมีศีลในที่นั้นมีปัญญา ในที่ใดมีปัญญาในที่นั้นมีศีล ศีลกับปัญญากล่าวไดว่าเป็นยอดในโลก เปรียบเหมือนใช้มือล้างมือ ใช้เท้าล้างเท้า ศีลกับปัญญาก็ชำระกันและกันฉันนั้น.
                พระผู้มีพระภาคตรัสรับรองภาษิตของโสณทัณฑพราหมณ์ว่าถูกต้อง แล้วตรัสถามต่อไปว่า ศีลเป็นอย่างไร? ปัญญาเป็นอย่างไร? โสณทัณฑพราหมณ์จึงกราบทูลให้พระผู้มีพระภาคตรัสอธิบาย.
                พระผู้มีพระภาคจึงตรัสถึงการที่บุคคลเลื่อมใสในพระองค์ ออกบวชประพฤติพรหมจรรย์ ตั้งอยู่ในศีล ๓ ชั้น (ดังในสามัญญผลสูตร)บำเพ็ญสมาธิจนได้บรรลุฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ และได้วิชชา ๘ มีวิปัสสนาญาณ เป็นต้น มีอาสวักขยญาณเป็นที่สุด (ดั่งได้กล่าวไว้แล้วในสามัญญผลสูตร) เป็นอันตรัสอธิบายถึงศีลและอธิบายถึงปัญญา (รวบยอดที่ปัญญาอันทำให้สิ้นอาสวะคือกิเลสที่หมักดองในสันดาน)
                เมื่อพระผู้มีพระภาคแสดงธรรมจบ โสณทัณฑพราหมณ์กราบทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนา แสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสระตลอดชีวิต แล้วอาราธนาพระผู้มีพระภาค พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ฉันในวันรุ่งขึ้น
                ครั้นรุ่งขึ้นถวายภัตตาหารเสร็จแล้ว จึงกราบทูลว่า ถ้าตนอยู่ในบริษัท ลุกขึ้นจากอาสนะกราบถวายบังคมก็ตาม ถ้าไปในยาน ลงจากยานกราบถวายบังคมก็ตาม พวกบริษัทก็จะจับผิดได้ เป็นเหตุให้เสื่อมยศ เมื่อยศเสื่อก็จะทำให้เสื่อมทรัพย์ เพราะได้ทรัพย์มาเพราะยศ ถ้าตนไปในบริษัทประคองอัญชลี ขอให้ทรงถือว่าตนลุกขึ้นจากอาสนะ ถ้าไปในยานยกปฎักขึ้น ขอให้ทรงถือว่าตนลงจากยาน ถ้าเบี่ยงร่ม   ขอให้ทรงถือว่าตนกราบถวายบังคมด้วยเศียรเกล้า
                (หมายเหตุ พระสูตรนี้แสดงว่าโสณทัณฑพราหมณ์ยอมตัดความสำคัญเรื่องผิวพรรณ เรื่องมนต์ เรื่องชาติกำเนิดของพราหมณ์ทิ้ง ให้เหลือแต่ศีลกับปัญญา ก็ทำให้คนเป็นพราหมณ์ได้ อันเข้ากับหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา พระผู้มีพระภาคจึงประทานสาธุการรับรองภาษิตของพราหมณ์นั้น ศาสตราจารย์ ริดส์ เดวิดส์ เห็นว่า แม้ทางพระทุทธศาสนาจะเสนอหลักการแบบนี้ ก็ทำการเลิกล้มความคิดเห็นของพราหมณ์ไม่สำเร็จ พราหมณ์ยังคงถือชาติเป็นสำคัญตลอดมา แต่ผู้เขียนเห็นว่า พระพุทธเจ้ามิได้ทรงแทรกแซงความเชื่อถือของพราหมณ์ ใครจะถือก็ถือไป แต่หลักธรรมมีอยู่อย่างนี้ ก็ทรงแสดงให้ฟัง ผลที่ปรากฏก็มีอยู่ คือพราหมณ์ที่เข้ามานับถือพระพุทธศาสนามิใช่น้อย พากันถือตามหลักธรรมพระพุทธศาสนา เข้าทำนองว่าเมื่อเราไม่สามารถจะเกี่ยวหญ้ามุงทุ่งทั้งทุ่งได้ อย่างน้อยเอามามุงหลังคาเฉพาะของเราเอง ก็ยังดีกว่าตากแดด ตากฝนไปตามคนอื่น ยิ่งในสมัยนี้ รัญธรรมนูญอินเดียไม่ยอมรับรองสิทธิพิเศษของชาติชั้นวรรณะ ผู้นำอินเดียพากันสดุดีหลักธรรมเรื่องนี้ของพระพุทธเจ้า ก็ยิ่งเห็นกันขึ้นว่า หลักธรรมนี้ประเสริฐอย่างไร)



                                            






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น