Translate

วันพฤหัสบดีที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

พระสุตตันตปิฎก - อัมพัฎฐสูตร


พระไตรปิฎก - พระสุตตันตปิฎก - อัมพัฎฐสูตร

อัมพัฎฐสูตร อยู่ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๙ ทีฆนิกาย สีลขันธวัคค์ เป็นสุตตันตปิฎก

๓.อัมพัฎฐสูตร

สูตรว่าด้วยการโต้ตอบกับอัมพัฎฐมาณพ

      




                พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นโกศล พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จแวะพัก ณ หมู่บ้านพราหมณ์ชื่ออิจฉานังคละ ใกล้เมใออุกกัฎฐา ซึ่งโปกขรสาติพราหมณ์ได้รับมอบหมายจากพระเจ้าปเสนทิให้เป็นผู้ครอบครอง.                โปกขรสาติพราหมณ์ได้ยินกิตติศัพท์สรรเสริญพระพุทธเจ้า จึงใช้อัมพัฏฐมาณพผู้เป็นศิษย์ให้ไปเฝ้าเพื่อสังเกตดูว่าจะมีมหาปุริสลักษณะครบตามคัมภีร์มนต์ของตนหรือไม่.                อัมพัฏฐมาณพไปแสดงอาการอวดดี คือพระผู้มีพระภาคประทับนั่ง แต่ตนเดินบ้าง ยืนบ้าง สนทนาด้วย เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสเตือน จึงประกาศตนว่าเป็นพราหมณ์ ควรแสดงอาการอย่างนี้ต่อคนชั้นไพร่ ศีรษะโล้น ซึ่งเกิดจากเท้าของพระพรหม (เป็นความนิยมของพวกพราหมณ์ว่า ถ้าโกนศีรษะจะถูกเหยียดหยามเป็นคนชั้นต่ำ) และเพิ่มความโกรธเคืองยิ่งขึ้น เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อัมพัฏฐมาณพยังไม่จบพรหมจรรย์ของพราหมณ์ แต่สำคัญตนว่าจบแล้ว” จึงด่าสกุลศากยะว่าเป็นสกุลทาสสกุลไพร่ ไม่เคารพพราหมณ์                เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ศากยสกุลเคยทำผิดอะไรไว้ จึงเล่าว่า ครั้งหนึ่งตนเดินทางไปกรุงกบิลพัสดุ์ด้วยธุระบางอย่างของโปกขรสาติพราหมณ์ ได้เข้าไปสู่อาคารโถงของเจ้าศากยะ เจ้าศากยะและศากยกุมารมากหลายนั่งบนอาสนะสูง ในอาคารโถง ต่างซิกซี้จี้กันด้วยนิ้วมือ ชะรอยจะหัวเราะตนก็เป็นได้. ไม่มีใครสักคนหนึ่งกล่าวเชิญตนด้วยอาสนะ การไม่เคารพนับถือ ไม่อ่อนน้อมพราหมณ์ของเจ้าศากยะไพร่ๆ อย่างนั้นเป็นการไม่สมควร. นี่เป็นการประณามศากยสกุลว่าเป็นไพร่ครั้งที่ ๒.                พระผู้มีพระภาคตรัสว่า แม้นกไส้ เมื่ออยู่ในรังของตนก็ยังส่งเสียงร้องตามชอบใจ เจ้าศากยะเหล่านั้น คือว่ากรุงกบิลพัสดุ์เป็นของตน จึงยังไม่น่าจะถือโทษด้วยเหตุเพียงเล็กน้อยเท่านี้.                อัมพัฏฐมาณพอ้างเหตุผลต่อไปว่า ในวรรณะทั้งสี่นั้น วรรณะทั้งสาม คือ กษัตริย์ แพศย์ (พ่อค้า) และศูทร (คนงาน) ย่อมตกอยู่ในฐานะเป็นผู้บำเรอพวกพราหมณ์ การที่เจ้าศากยะไพร่ๆ ไม่เคารพนับถือ ไม่อ่อนน้อมพราหมณ์ จึงเป็นการไม่สมควร นี่เป็นการประณามศากยสกุลว่าเป็นไพร่ครั้งที่ ๓.                พระผู้มีพระภาคเห็นอัมพัฏฐมาณพกล่าวรุกรานศากยสกุลอย่างหนักเช่นนั้น จึงตรัสถามว่า ท่านสกุล (โคตร) อะไร เมื่ออัมพัฏฐมาณพกราบทูลว่า กัณหายนโคตร พระองค์จึงตรัสเตือนให้ระลึก (ประวัติศาสตร์)ว่า ต้นสกุลของศากยะ คือพระเจ้าโอกกากราช ซึ่งเป็นกษัตริย์ แต่ต้นสกุลของกัณหายนะ คือนางทาสีของพระเจ้าโอกกากราชผู้มีนามว่า ทิสา ก็เมื่อต้นสกุลศากยะเป็นลูกกษัตริย์ ต้นสกุลกัณหายนะ เป็นลูกนางทาสีเช่นนั้น ก็จงระลึกถึงสกุลดั้งเดิมดูเถิด.                มาณพทั้งหลายที่ตามมาด้วย ก็พูดอื้ออึง ห้ามพระผู้มีพระภาคว่า ขอพระโคดมอย่าได้กล่าวหาว่าอัมพัฏฐมาณพเป็นลูกทาสีเลย เพราะอัมพัฏฐมาณพมีชาติอันดี สดับรับฟังมาก มีถ้อยคำอันดีงาม และเป็นบัณฑิต.                พระผู้มีพระภาคจึงตรัสถามอัมพัฏฐมาณพว่า ที่พระองค์ตรัสอย่างนี้ เป็นความจริงหรือไม่ อัมพัฏฐมาณพนิ่งอึ้ง  พระผู้มีพระภาคตรัสย้ำถามถึงครั้งที่ ๓ จึงยอมตอบรับว่าเป็นความจริง.                มาณพที่มาด้วย จึงอื้ออึง ประณามว่า อัมพัฏฐมาณพเป็นลูกทาสี มีชาติไม่ดี พระสมณโคดมพูดเป็นธรรม เราหลงรุกรานว่าพูดไม่ถูก.                พระผู้มีพระภาคทรงเห็นมาณพเหล่านั้นกลับไปรุกรานอัมพัฏฐมาณพเช่นนั้น ก็ตรัสห้าม และทรงเล่าถึงความยิ่งใหญ่ของกัณหะ (บุตรทาสี) ผู้เดินทางไปเรียนพรหมมนต์ ณ ชนบทภาคใต้ แล้วกลับมาขอพระราชธิดาของพระเจ้าโอกกากราชนามว่า มัททรูปี ครั้งพระเจ้าโอกกากราชไม่พระราชทาน ในที่สุดก็พระราชทาน เพราะเกรงฤทธิ์ของกัณหะ (เป็นการตรัสช่วยแก้หน้าให้แก่อัมพัฏฐมาณพ).                ต่อจากนั้นตรัสถามถึงประเพณีนิยม เพื่อให้อัมพัฏฐมาณพตอบเป็นข้อๆ เกี่ยวกับกับกษัตริย์ กับพราหมณ์ใครจะสูงกว่ากัน (เพื่อให้คลายความถือดี) คือ                ๑. บุตรที่เกิดจากบิดาเป็นกษัตริย์ มารดาเป็นพราหมณ์ จะได้อาสนะ (ที่นั่ง) และน้ำ ในพวกพราหมณ์หรือไม่? ตอบว่า ได้. พวกพราหมณ์จะยอมให้บริโภคอาหารในพิธีสารท (อาหารอุทิศให้ผู้ตาย) ในพิธีถาลิปากะ (อาหารเนื่องในงานมงคล) ในยัญญพิธี (อาหารในการบูชายัญ) และในปาหุนะ (อาหารต้อนรับแขก) หรือไม่? ตอบว่า ยอมให้บริโภค. พวกพราหมณ์จะสนอมนต์ให้หรือไม่? ตอบว่า สอน. จะห้ามผู้นั้นแต่งงานกับสตรีพราหมณ์หรือไม่? ตอบว่า ไม่ห้าม. จะได้รับอภิเษกเป็นกษัตริย์หรือไม่? ตอบว่า ไม่. ถาม เพราะเหตุไร? ตอบว่า เพราะยังไม่บริสุทธิ์ฝ่ายมารดา.                ๒.บุตรที่เกิดจากบิดาเป็นพราหมณ์ มารดาเป็นกษัตริย์ จะได้ที่นั่ง ได้น้ำ เป็นต้นหรือไม่? ตอบว่า ได้. จะห้ามผู้นั้นแต่งงานกับสตรีพราหมณ์หรือไม่? ตอบว่า ไม่ห้าม. จะได้อภิเษกเป็นกษัตริย์หรือไม่? ตอบว่า ไม่. ถามว่า เพราะเหตุไร? ตอบว่า เพราะยังไม่บริสุทธิ์ฝ่ายบิดา                (ตรัสสรูปเพียงชั้นนี้ก่อนว่า) นี่แหละเมื่อเปรียบหญิงกับหญิง เปรียบชายกับชายกันแล้ว กษัตริย์ก็ประเสริฐกว่า และพราหมณ์เลวกว่า. (เพราะอัมพัฏฐมาณพยอมรับรองตามประเพณีนิยมว่า กษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับพราหมณ์ ทำให้กษัตริย์ไม่บริสุทธิ์).                ครั้นแล้วตรัสถามต่อไปอีกว่า                ๓. พราหมณ์ที่ถูกลงโทษโกนศีรษะ ถูกเอาขี้เถ้าโรยศีรษะ ถูกเนรเทศจากรัฎฐะ หรือจากนคร จะได้ที่และน้ำในพวกพราหมณ์หรือไม่? ตอบว่า ไม่ได้. จะร่วมบริโภคอาหารในพิธีกรรมต่างๆ หรือไม่? ตอบว่า ไม่ได้. พราหมณ์จะสอนมนต์ให้หรือไม่? ตอบว่า ไม่. จะถูกห้ามแต่งงานกับสตรีพราหมณ์หรือไม่? ตอบว่า ถูกห้าม.                ๔. กษัตริย์ที่ถูกลงโทษโกนศีรษะ ถูกเอาขี้เถ้าโรยบนศีรษะ ถูกเนรเทศจากรัฎฐะ หรือจากนครจะได้ที่นั่งและน้ำในพวกพราหมณ์หรือไม่? ตอบว่า ได้. จะได้ร่วมบริโภคอาหารในพิธีกรรมต่างๆ หรือไม่? ตอบว่า ได้. พราหมณ์จะสอนให้หรือไม่? ตอบว่า สอน. จะถูกห้ามแต่งงานกับสตรีพราหมณ์หรือไม่? ตอบว่า ไม่ห้าม.                จึงตรัสสรูปให้เห็นว่ากษัตริย์ประเสริฐกว่าพราหมณ์ แล้วตรัสรับรองภาษิตของพรหมชื่อสนังกุมารที่ว่า                “ในหมู่ชนที่ถือโคตร กษัตริย์ประเสริฐสุด แต่ผู้ใดสมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะ (ความรู้และความประพฤติ) ผู้นั้นประเสริฐสุดในเทวดาและมนุษย์.” (สุภาษิตนี้ ถือว่าความรู้ความประพฤติสำคัญกว่าชาติสกุล).                เมื่ออัมพัฏฐมาณพกราบทูลถามว่า ความประพฤติและความรู้นั้นเป็นอย่างไร จึงตรัสตอบเป็นใจความว่า                “ใครก็ตามยังถือชาติ ถือโคตร ถือตัว ถืออาวาหะ วิวาหะ คนเหล่านั้นย่อมอยู่ห่างไกลจากความรู้และความประพฤติอันยอดเยี่ยม ต่อเมื่อละความถือชาติ ถือโคตร ถือตัว ถืออาวาหะ วิวาหะได้ จึงจะทำให้แจ้งได้ซึ่งความรู้และความประพฤติอันยอดเยี่ยม.”                ครั้นแล้วตรัสอธิบายถึงการที่กุลบุตรออกบวชตั้งอยู่ในศีลธรรม บำเพ็ญฌาน ๔ และวิชชา ๘ (ดังที่กล่าวแล้วในสามัญญผลสูตร) ว่า ชื่อว่าสมบูรณ์ด้วยความรู้และความประพฤติอย่างยอดเยี่ยม ไม่มีความรู้ความประพฤติอื่นยิ่งกว่า                ครั้นแล้วได้ทรงแสดงปากทางแห่งความเสื่อม ๔ ประการของความสมบูรณ์ด้วยความรู้และความประพฤตินั้น คือสมณพราหมณ์ผู้มิได้บรรลุความรู้และความประพฤตินั้น ๑.หาบบริขารของนักบวชออกป่ากินผลไม้ที่ตก ๒. ทำอย่างข้อ ๑ ไม่ได้ จึงถือจอบและตะกร้าออกป่ากินเผือกมันผลไม้ ๓.ทำอย่าง ข้อ ๑-๒ ไม่ได้ จึงสร้างโรงบูชาไฟขึ้นที่ท้ายคามหรือนิคม บำเรอไฟอยู่ (คอยหาเชื้อเพลิงใส่ไฟมิให้ดับ เป็นการบำเรอไฟหรืออัคนีเทพ) ๔. ทำอย่างข้อ ๑-๒-๓ ไม่ได้ ก็ปลูกบ้าน มีประตู ๔ ด้าน ในถนน ๔ แยก เพื่อคอยบูชาสมณพราหมณ์ซึ่งเดินทางมาแต่ ๔ ทิศ ตามกำลังความสามารถ. (อรรถกถาอธิบายว่า เอาดีทางคุณธรรมชั้นสูงไม่ได้ ก็เอาดีทางบวชเป็นดาบส).                ครั้นแล้วตรัสถามอัมพัฏฐมาณพว่า ตัวอัมพัฏฐมาณพพร้อมทั้งอาจารย์ สมบูรณ์ด้วยความรู้และความประพฤติดังกล่าวแล้วหรือเปล่า เมื่อตอบว่า เปล่า และว่ายังห่างไกลจากคุณสมบัติเช่นนั้น จึงตรัสถามต่อไปว่า เพียงกระทำแบบดาบส ๔ ประเภทนั้น ทำได้หรือเปล่า ตอบว่า ทำไม่ได้ จึงตรัสสรุปให้ฟังว่าตัวอัมพัฏฐมาณพพร้อมทั้งอาจารย์ เสื่อมจากความสมบูรณ์ด้วยความรู้ความประพฤติ (วิชชาจรณะ) อันยอดเยี่ยมและเสื่อมจากปากทางแห่งความเสื่อม ๔ อย่างของความรู้และความประพฤตินั้น (เป็นการเตือนให้เห็นว่าที่ทะนงตนมาแต่เดิมนั้น ที่แท้ก็ไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลย แม้ขนาดคุณสมบัติชั้นเลว ๆ ของผู้ไม่สามารถมีความรู้ความประพฤติอันยอดเยี่ยมนั้น คือเพียงแค่ทำอย่างดาบส ก็ทำไม่ได้).                ครั้นแล้วทรงแสดงถึงความผิดพลาดของโปกขรสาติพรามหมณ์ผู้เป็นอาจารย์ของอัมพัฏฐมาณพ (๒ ประการ) คือ ๑. พูดว่า “สมณะศีรษะโล้นเป็นไพร่ เป็นพวกดำ เป็นผู้เกิดจากเท้าพรหม จะเจรจากับพราหมณ์ผู้รู้วิชชา ๓ (รู้ไตรเพท) ได้อย่างไร” แต่ตัวเองก็เสื่อมหรือไม่มีวิชชานั้นบริบูรณ์อะไรเลย. ๒. บริโภคของพระราชทานจากพระเจ้าปเสนทิโกศล แต่พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ไม่โปรดให้โปกขรสาติพราหมณ์นั้นอยู่ในที่เฉพาะพระพักตร์ เมื่อจะทรงปรึกษาอะไรด้วยก็ทรงปรึกษาโดยมีม่านกั้น.โปกขรสาติพราหมณ์รับภิกษาที่เป็นของพระราชทานโดยธรรม แต่ทำไมเล่าพระเจ้าปเสนทิโกศลจึงไม่ทรงอนุญาตให้พราหมณ์นั้นอยู่ในที่เฉพาะพระพักตร์.๑.แสดงว่าความจริงพระเจ้าปเสนทิโกศลก็ทรงปฎิบัติต่อพราหมณ์ไม่ใช่ในฐานะสูงศักดิ์กว่าพระองค์อย่างไรเลย แม้เช่นนั้น พราหมณ์นั้นก็ยังยกย่องตัวเองว่าสูงกว่ากษัตริย์แล้วตรัสถามอัมพัฏฐมาณพว่า เพียงที่คนวรรณะศูทรหรือทาสของศูทรยืนในที่ซึ่งพระเจ้าปเสนทิประทับบนคอช้าง หรือประทับยืนบนเครื่องลาดเพื่อเสด็จขึ้นสู่รถ หรือในที่ซึ่งทรงปรึกษาเรื่องอะไร ๆ กับปมอำมาตย์ผู้ใหญ่หรือกับเจ้านาย แล้วคนวรรณะศูทรหรือทาสของศูทรเหล่านั้นกล่าวถ้อยคำว่า พระเจ้าปเสนทิโกศลมีรพะราชดำรัสอย่างนี้ ๆ (พูดเลียนพระราชดำรัส) จะทำให้ศูทรหรือทาสของศูทรกลายเป็นพระราชาหรือราชมหาอำมาตย์ไปได้หรือไม่. เมื่ออัมพัฏฐมาณพตอบว่า เป็นไม่ได้ จึงตรัสเปรียบเทียบให้ฟังว่าพวกพราหมณ์สมัยนี้พากันสวดหรือกล่าวตามบทแห่งมนต์เก่าแก่ ซึ่งพวกฤษีรุ่นก่อน ๆ ได้เคยสวดมาแล้ว เช่น ฤษีอั”ฐกะ วามกะ วามเทพ เวสสมิตต์ (วิศวามิตร) ยมตัคคี อังครส ภารัทวาะ วาเสฎฐะ กัสสปะ ภคุ ตัวอัมพัฏฐมาณพ พร้อมด้วยอาจารย์ก็เรียนมนต์เหล่านั้น เพียงเท่านั้นจะทำให้อัมพัฏฐมาณพเป็นฤษีหรือผู้ปฎิบัติเพื่อเป็นฤษีได้หรือไม่. อัมพัฏฐมาณพตอบว่า เป็นไม่ได้.                แล้วตรัสถามว่า พวกฤษีรุ่นก่อนๆ เพียบพร้อมไปด้วยกามคุณ ๕ บริโภคอาหารดี ๆ มีสตรีผู้ประดับด้วยผ้าและสายรัดเอวคอยบำเรอ ขี่รถเทียมด้วยม้า ใช้ปฏักยาว ๆ แทงสัตว์พาหนะ เที่ยวไปในที่ต่าง ๆ มีบุรษผู้สอดดาบยาวคอยอารักขาในนคร ซึ่งมีเครื่องอุปกรณ์พร้อมสรรพ มีคูอันขุดไว้ มีซี่เหล็กอันยกขึ้นไว้ (ที่ประตู) เหมือนอย่างตัวท่าน พร้อมด้วยอาจารย์ในสมัยนี้หรือไม่. อัมพัฏฐมาณพตอบว่า ฤษีรุ่นก่อน ๆไม่ทำอย่างนี้ จึงตรัสสรุปให้เห็นว่า อัมพัฏฐมาณพ พร้อมทั้งอาจารย์มิได้เป็นฤษี หรือผู้ปฎิบัติเพื่อเป็นฤษี                อัมพัฏฐมาณพได้สังเกตพระพุทธลักษณะ แต่ยังมีอยู่บางข้อที่เห็นไม่ได้ เช่น พระคุยหฐาน ตั้งอยู่ในฝัก และพระชิวหา (ใหญ่ยาว) พอจะปิดพระพักตร์ และช่องพระนาสิกพระโสตได้ พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงอิทธิภิสังขาร (แสดงฤทธิ์) และทรงกระให้เห็นได้                อัมพัฏฐมาณพกลับไปเล่าให้โปกขรสาติพราหมณ์ฟังทุกประการ โปกขรสาติพราหมณ์โกรธที่อัมพัฏฐมาณพไปรุกรานพระผู้มีพระภาค จึงใช้เท้าเตะ และใคร่จะไปเฝ้า แต่พวกพราหมณ์ค้านว่าค่ำแล้วควรไปในวันรุ่งขึ้น.                แต่โปกขรสาติพราหมณ์คงไปจนได้ โดยให้จุดคบเพลิง เมื่อไปเฝ้ากราบทูลถามเรื่องที่โต้ตอบกับอัมพัฏฐมาณพแล้ว จึงกราบทูลขอโทษแทนอัมพัฏฐมาณพ ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็มีพระพุทธดำรัสว่า อัมพัฏฐมาณพจงเป็นสุขเถิด.                โปกขรสาติพราหมณ์พิจารณพระพุทธลักษณะและได้เห็นครบ ๓๒ (ต้องตามลักษณะมนต์ของตน) แต่ ๒ ข้อเห็นไม่ได้ พระผู้มีพระภาคต้องทางแสดงฤทธิ์และทำให้เห็น แล้วจึงอาราธนาพระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ไปฉันในวันรุ่งขึ้น และเช้าวันรุ่งขึ้น เมื่อถวายดภัตตาหารเสร็จแล้ว ได้สดับพระธรรมเทศนาเรื่องอนุบุพพิกถา  และอริยสัจจ์ ๔ ได้ดวงตาเห็นธรรม จึงประกาศตน พร้อมทั้งบุตร ภริยา บริษัทและอำมาตย์เป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต


พระไตรปิฎก


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น