Translate

วันพฤหัสบดีที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2560

พระสุตตันตปิฎก - มหาลิสูตร

       

                                           พระไตรปิฎก - พระสุตตันตปิฎก - มหาลิสูตร

 อยู่ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๙ ทีฆนิกาย สีลขันธวัคค์ เป็นสุตตันตปิฎก



๖.มหาลิสูตร
สูตรว่าด้วยการโต้ตอบกับเจ้าลิจฉวีชื่อมหาลิ

*********************************************************************************
                

พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ศาลาเรือนยอด ป่ามหาวัน กรุงไพศาลี พวกพราหมณ์ที่เป็นทูตชาวโกศลและชาวมคธมากหลาย    มีธุระไปพักอยู่ในกรุงไพศาลี ได้ทราบข่าวจึงจะพากันไปเฝ้า เจ้าลิจฉวีชื่อ โอฏฐัทธะ (ปากแหว่ง)    พร้อมด้วยบริษัทก็ไปเฝ้าด้วย
                สมัยนั้น พระนาคิตะ เป็นพุทธอุปฐาก ไม่ยอมให้เข้าเฝ้า อ้างว่าพระผู้มีพระภาคกำลังทรงหลีกเร้น (ทำความสงบ) อยู่ สามเณรสีหะจึงเจรจากับพระนาคิตะให้บุคคลเหล่านั้นเข้าเฝ้า พระนาคิตะเกี่ยงให้สามเณรสีหะไปกราบทูลเอง
                เมื่อสามเณรสีหะไปกราบทูล จึงตรัสสั่งให้ปูอาสนะที่ร่มเงาด้านหลังวิหาร เสด็จไปต้อนรับบุคคลเหล่านั้น
                เมื่อตรัสปราศรัยกับบุคคลทุกเหล่าที่เข้าเฝ้าแล้ว โอฏฐัทธะ ลิจฉวี ก็กราบทูลถามเรื่องตาทิพย์ หูทิพย์ ว่ามีหรือไม่ ตรัสตอบว่า มี แล้วทรงแสดงเหตุผลว่า สุดแต่กำลังสมาธิที่เจริญให้มาก  เพื่อให้มีตาทิพย์ หรือหูทิพย์ และตรัสว่า ภิกษุทั้งหลายมิได้ประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักของพระองค์เพื่อเจริญสมาธิ (ที่เป็นเหตุให้ได้ตาทิพย์หูทิพย์เหล่านั้น) เพราะยังมีธรรมที่สูงกว่านั้นที่ทำให้แจ้ง คือ ๑.การทำสัญโญชน์ (กิเลสที่ผูกมัด) ให้สิ้นไป ๓ ประการ อันทำให้เป็นพระโสดาบัน ๒. ทำสัญโญชน์ ๓ ประการนั้นให้สิ้น ทำราคะ โทสะ โมหะให้น้อยลง อันทำให้เป็นพระสกทาคามี ๓. ทำสัญโญชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการให้สิ้น อันทำให้เป็นพระอนาคามี ๔. ทำอาสวะให้สิ้น ทำให้แจ้งความหลุดพ้นเพราะสมาธิ (เจโตวิมุติ) และความหลุดพ้นเพราะปัญญา(ปัญญาวิมุติ )
๑. แสดงว่ากรุงไพศาลีนครหลวงของแคว้นในขณะนั้น เป็นศูนย์กลางการทูตที่ฝ่ายมคธและโกศลติดต่อด้วย
๒. การตั้งชื่อคนตามลักษณะร่างกายดูจะนิยมกันมาก เช่น กูฏทันตะ (ฟันเขยิน) ลกุณฎกภัททิยะ (ภัททิยะค่อม) กาฬุทายี (อุทายีดำ)
๓. ในที่นี้เป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่สูงกว่าหูทิพย์ ตาทิพย์ คือการทำกิเลสให้หมดเป็นขั้น ๆ ได้เป็นพระอริยบุคคล ตั้งแต่อย่างต่ำถึงสูงสุด คือเป็นพระอรหันต์ อันแสดงว่าฤทธิ์เดชมิใช่จุดประสงค์ทางพระพุทธศาสนา
                เมื่อโอฏฐัทธะ ลิจฉวี กราบทูลถามถึงข้อปฎิบัติที่ทำให้แจ้ง (บรรลุ) ธรรมเหล่านั้น ก็ตรัสแสดงมคครมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิ (ความเห็นชอบ) เป็นต้น มีสัมมาสมาธิ(ความตั้งใจมั่นชอบ) เป็นที่สุด
                ครั้นแล้วตรัสเล่าเรื่องมัณฑิยปริพพาชก กับชาลิยปริพพาชกไปทูลถามพระองค์ เรื่องชีวะ กับสรีระ มีข้อความอย่างเดียวกับข้อความในชาลิยสูตร ซึ่งจะกล่าวต่อจากสูตรนี้ เมื่อจบพระธรรมเทศนา โอฏฐัทธะ ลิจฉวี ก็ชื่นชมภาษิตของพระผู้มีพระภาค

      (หมายเหตุ โอฏฐัทธะ ลิจฉวี มีชื่อเดิมว่า มหาลิ เวลาพระผู้มีพระภาคโต้ตอบด้วย ก็ทรงใช้ชื่อมหาลิ)










ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น