Translate

วันจันทร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

พระสุตตันตปิฎก - กูฎทันตสูตร



พระไตรปิฎก - พระสุตตันตปิฎก - กูฎทันตสูตร

กูฎทันตสูตร อยู่ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๙ ทีฆนิกาย สีลขันธวัคค์ เป็นสุตตันตปิฎก



๕.กูฎทันตสูตร

สูตรว่าด้วยกูฏทันตพราหมณ์ (พราหมณ์ฟันเขยิน)



********************************************************************************
             





              พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นมคธ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็แวะพัก ณ บ้านพราหมณ์ชื่อขานุมัตตะ ประทับ ณ อัมพัฏฐิกา(สวนมะม่วงหนุ่ม)
                สมัยนั้น กูฎทันตพราหมณ์ครอบครองหมู่บ้านพราหมณ์ชื่อขานุมัตตะ ซึ่งพระเจ้าพิมพิสารพระราชทานให้. อนึ่ง กูฎทันตพราหมณ์เตรียมประกอบยัญญพิธี เอาโคผู้ ๗๐๐ , ลูกโคผู้ ๗๐๐, ลูกโคเมีย ๗๐๐, แพะ ๗๐๐, แกะ ๗๐๐   ผูกติดไว้กับเสา เพื่อเตรียมบูชายัญ
                พราหมณ์คฤหบดีชาวขานุมัตตะได้ทราบเรื่องว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จมา และเป็นผู้มีกิตติศัพท์ขจรขจายไปว่า เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นต้น ก็เดินไปเป็นหมู่ ๆ เพื่อเฝ้า กูฎทันตพราหมณ์เห็นเข้า (เช่นเดียวกับเรื่องโสณทัณฑพราหมณ์) ถามทราบเรื่องก็สั่งให้รอ ตนจะร่วมไปเฝ้าด้วย แต่ถูกพราหมณ์ที่เดินทางมา (เพื่อรับของถวาย) ในมหายัญคัดค้าน และกูฎทันตพราหมณ์โต้ตอบ (เช่นเดียวกับเรื่องโสนทัณฑพราหมณ์) ในที่สุดจึงร่วมกันไปเฝ้าทั้งหมด
                กูฎทันตพราหมณ์จึงกราบทูลถามให้ทรงอธิบายถึงยัญญสัมปทา (ความถึงพร้อม คือสมบูรณ์แห่งยัญ ๓ ประการ อันมีส่วนประกอบ (บริขาร) ๑๖ อย่าง)
                พระผู้มีพระภาคตรัสเล่าถึงพระเจ้ามหาวิชิตะในอดีตกาลผู้สมบูรณ์ด้วยทรัพย์ ได้ชัยชนะปฐพีมณฑลอันยิ่งใหญ่ ใคร่จะบูชรมหายัญ เพื่อประโยชน์และความสุข จึงตรัสเรียกพราหมณ์ปุโรหิตมาให้ช่วยสอนวิธีบูชามหายัญนั้น

                พราหมณ์ปุโรหิตแนะให้ปราบโจรผู้ร้ายก่อน แต่ไม่ใช่ด้วยวิธีฆ่าหรือจองจำ เพราะพวกที่เหลือจากถูกฆ่าก็จะเบียดเบียนชนบทในภายหลัง(ตัวตายตัวแทน) โดยที่แท้ควรถอนรากโจรผู้ร้าย (ด้วยวิธีจัดการทางเศรษฐกิจให้ดี) คือแจกพืชแก่กสิกรในชนบทที่อุตสาหะประกอบอาชีพ ให้ทุนแก่พ่อค้าที่อุตสาหะในการค้าให้อาหาร และค่าจ้างแก่ข้าราชการ (ให้ทุกคนมีอาชีพมีรายได้) พระราชทรัพย์ก็จะเพิ่มพูน ชนบทก็จะไม่มีเสี้ยนหนาม มนุษย์ทั้งหลายก็จะรื่นเริงอุ้มบุตรให้ฟ้อนอยู่ที่อก ไม่ต้องปิดประตูเรือน.
  เมื่อพระเจ้ามหาวิชิตะทรงทำตามคำแนะนำนั้นก็ได้ผลดี จึงตรัสเรียกพราหมณ์ปุโรหิตมา ขอให้สอนเรื่องการบูชามหายัญ พราหมณ์ปุโรหิตจึงแนะให้ขออนุญาตบูชามหายัญ โดยแจ้งให้กษัตริย์ผู้น้อยกว่าที่อยู่ในนิคมชนบท,อำมาตย์ ข้าราชบริพารที่อยู่ในนิคมชนบท,พราหมณ์มหาศาลที่อยู่ในนิคมชนบท,คฤหบดี ที่อยู่ในนิคมชนบทได้ทราบเรื่อง และอนุญาตให้บูชามหายัญ เมื่อทรงปฎิบัติตามนั้นก็ได้รับอนุญาตจากบุคคลทั้งสี่ประเภทเหล่านั้น นี้นับเป็นฝ่ายอนุมัติ ๔ ซึ่งเป็นเครื่องประกอบของยัญนั้น.
                องค์พระเจ้ามหาวิชิตะเอง ประกอบด้วยคุณสมบัติ ๘ ประการ คือ ๑.มีชาติดี ๒.มีรูปงาม ๓.มีทรัพย์มาก ๔.มีกำลังรบ ๕.มีศรัทธาบริจาคทาน ๖.สดับรับฟังมาก (มีการศึกษาดี) ๗.รู้ความหมายของภาษิตนั้น ๆ (อธิบายความหมายได้) ๘.เป็นผู้ฉลาดมีปัญญา. คุณสมบัติ ๘ ประการนี้เป็นเครื่องประกอบของยัญนั้น
                คุณสมบัติของพราหมณ์ปุโรหิตอีก ๔. คือ ๑.มีชาติดี ๒.ท่องจำมนต์ได้ ๓.มีศีล ๔.เป็นผู้ฉลาดมีปัญญา คุณสมบัติ ๔ ประการนี้เป็นเครื่องประกอบของยัญนั้น (รวมเป็น ๑๖ คือฝ่ายอนุมัติ ๔ คุณสมบัติของพระราชา ๘ คุณสมบัติของปุโรหิต ๔)
                ต่อไปพราหมณ์ปุโรหิตจึงแสดงถึงยัญ ๓ ประการ คือต้องไม่มีความเดือดร้อนใจว่า โภคทรัพย์เป็นอันมาก ๑. จักหมดไป ๒.กำลังหมดไป ๓.หมดไปแล้ว
                แล้วพราหมณ์ปุโรหิตได้แสดงถึงการบรรเทาความเดือดร้อนใจของผู้บูชายัญที่จะพึงมีในฝ่ายผู้รับทาน ๑๐ ประการ คือผู้ฆ่าสัตว์, ผู้ลักทรัพย์ ผู้ประพฤติผิดในกาม, ผู้พูดปด, ผู้พูดส่อเสียด,ผู้พูดคำหยาบ,ผู้พูดเพ้อเจ้อ. ผู้ละโมบอยากได้ของคนอื่น,ผู้พยาบาทปองร้อยผู้อื่น. ผู้เห็นผิดทำนองคลองธรรม อาจมาสู่ยัญญพิธีโดยตั้งใจว่ายัญนี้อุทิศผู้ที่ปฎิบัติดี ตรงกันข้ามกับฝ่ายชั่ว ๑๐ ประการ
                เมื่อมีเครื่องประกอบยัญ  ๖ ประการดั่งนี้ ก็จะไม่มีผู้ใดกล่าวติเตียนได้โดยธรรม.
                ครั้นแล้วได้แสดงวิธีบูชายัญต่อไปว่า ในยัญนั้น ไม่มีการฆ่าโค,แพะ,แกะ,ไก่,สุกรและสัตว์ ต่าง ๆ ก็ไม่ต้องถึงความพินาศ, ไม่มีการตัดต้นไม้ เพื่อสร้างปราสาท (ต้อนรับผู้มาดูพิธี) ไม่ต้องเกี่ยวหญ้าคามาเพื่อแวดวงประดับโรงพิธี หรือเพื่อปูลาดกับพื้น พวกทาสกรรมกรก็ไม่ต้องถูกขู่เข็ญลงโทษ มีหน้านองด้วยน้ำตาทำการงาน ใครปรารถนาจะทำก็ทำ ไม่ปรารถนาก็ไม่ต้องทำ เพราะยัญนั้นสำเร็จด้วยเนยใส.น้ำมัน,เนยข้น,นมส้ม,น้ำผึ้ง,น้ำอ้อย
                ผู้ที่เดินทางมาในการนี้ นำเครื่องบรรณาการมาถวาย พระเจ้ามหาวิชิตะก็ไม่ทรงรับ กลับตรัสให้นำของพระองค์เพิ่มให้กลับไป แต่บุคคเหล่านั้นไม่นำกลับ กลับสละตาม (คือแจกทานตามพระเจ้ามหาวิชิตะ) ต่างตั้งยัญศาลาขึ้น ๔ ทิศ (กษัตริย์ทิศบูรพา,อำมาตย์ทิศทักษิณ,พราหมณ์มาหศาลทิศประจิม,คฤหบดีทิศอุดร) แจกทานร่วมในการนี้
                กูฏทันตพราหมณ์กราบทูลถามว่า ยังมียัญอื่นที่มีการริเริ่มน้อยกว่า แต่มีผลมากกว่ายัญ ๓ บริขาร ๑๖ ที่กล่าวแล้วหรือไม่ เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า มี ก็ถามต่อไปอีกถึงยัญที่มีการริเริ่มน้อยกว่า แต่มีผลมากกว่า เป็นการถามตอบหลายวาระ สิ่งที่มีการริเริ่มน้อย แต่มีผลมากกว่ากันโดยลำดับ ซึ่งผู้มีพระภาคตรัสตอบมีดังนี้
                ๑.การให้ทานเป็นนิตย์ อุทิศผู้มีศีล
                ๒.การสร้างวิหาร (ทีอยู่) อุทิศสงฆ์ที่มาจาก ๔ ทิศ
                ๓.การถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ
                ๔.การสมาทานศีล ๕ คือเว้นจากฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดปด และดื่มสุราเมรัย
๕.การออกบวชประพฤติพรหมจรรย์ ตั้งอยู่ในศีล ๓ ประการ บำเพ็ญสมาธิจนได้ฌาน ๔ บำเพ็ญปัญญาจนได้วิชชา ๘ (ดั่งกล่าวไว้แล้วในสามัญญผลสูตร)
กูฏทันตพราหมณ์มีความเลื่อมใสในพระธรรมเทศนา ประกาศตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัย เป็นสรณะตลอดชีวิต ปล่อยสัตว์อย่าง ๗๐๐ หลายประเภทนั้นให้เป็นอิสระ และเมื่อได้ฟังธรรมเทศนาต่อไป (อนุบุพิกถาและอริยสัจจ์ ๔) ก็ได้ดวงตาเห็นธรรม (เป็นพระโสดาบัน)


                (พระสูตรนี้ทำให้เห็นว่า เพียงการถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะหรือการรักษาศีล ๕ ก็ยังมีผลมากกว่าการบำเพ็ยมหายัญใหญ่โต จึงน่าจะเป็นเครื่องเตือนใจผู้คิดทำบุญซึ่งมักจะบ่นว่าไม่มีทุนจะทำบุญ ให้ทราบว่าบุญนั้นไม่จำเป็น่ต้องลงทุนเอาทรัยพ์แลกเสมอไป เพียงการรักษาศีล ๕ ก็เป็นบุญอันสูงกว่านั้น)








ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น