Translate

วันจันทร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

พระสุตตันตปิฎก - กูฎทันตสูตร



พระไตรปิฎก - พระสุตตันตปิฎก - กูฎทันตสูตร

กูฎทันตสูตร อยู่ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๙ ทีฆนิกาย สีลขันธวัคค์ เป็นสุตตันตปิฎก



๕.กูฎทันตสูตร

สูตรว่าด้วยกูฏทันตพราหมณ์ (พราหมณ์ฟันเขยิน)



********************************************************************************
             





              พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นมคธ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็แวะพัก ณ บ้านพราหมณ์ชื่อขานุมัตตะ ประทับ ณ อัมพัฏฐิกา(สวนมะม่วงหนุ่ม)
                สมัยนั้น กูฎทันตพราหมณ์ครอบครองหมู่บ้านพราหมณ์ชื่อขานุมัตตะ ซึ่งพระเจ้าพิมพิสารพระราชทานให้. อนึ่ง กูฎทันตพราหมณ์เตรียมประกอบยัญญพิธี เอาโคผู้ ๗๐๐ , ลูกโคผู้ ๗๐๐, ลูกโคเมีย ๗๐๐, แพะ ๗๐๐, แกะ ๗๐๐   ผูกติดไว้กับเสา เพื่อเตรียมบูชายัญ
                พราหมณ์คฤหบดีชาวขานุมัตตะได้ทราบเรื่องว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จมา และเป็นผู้มีกิตติศัพท์ขจรขจายไปว่า เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นต้น ก็เดินไปเป็นหมู่ ๆ เพื่อเฝ้า กูฎทันตพราหมณ์เห็นเข้า (เช่นเดียวกับเรื่องโสณทัณฑพราหมณ์) ถามทราบเรื่องก็สั่งให้รอ ตนจะร่วมไปเฝ้าด้วย แต่ถูกพราหมณ์ที่เดินทางมา (เพื่อรับของถวาย) ในมหายัญคัดค้าน และกูฎทันตพราหมณ์โต้ตอบ (เช่นเดียวกับเรื่องโสนทัณฑพราหมณ์) ในที่สุดจึงร่วมกันไปเฝ้าทั้งหมด
                กูฎทันตพราหมณ์จึงกราบทูลถามให้ทรงอธิบายถึงยัญญสัมปทา (ความถึงพร้อม คือสมบูรณ์แห่งยัญ ๓ ประการ อันมีส่วนประกอบ (บริขาร) ๑๖ อย่าง)
                พระผู้มีพระภาคตรัสเล่าถึงพระเจ้ามหาวิชิตะในอดีตกาลผู้สมบูรณ์ด้วยทรัพย์ ได้ชัยชนะปฐพีมณฑลอันยิ่งใหญ่ ใคร่จะบูชรมหายัญ เพื่อประโยชน์และความสุข จึงตรัสเรียกพราหมณ์ปุโรหิตมาให้ช่วยสอนวิธีบูชามหายัญนั้น

                พราหมณ์ปุโรหิตแนะให้ปราบโจรผู้ร้ายก่อน แต่ไม่ใช่ด้วยวิธีฆ่าหรือจองจำ เพราะพวกที่เหลือจากถูกฆ่าก็จะเบียดเบียนชนบทในภายหลัง(ตัวตายตัวแทน) โดยที่แท้ควรถอนรากโจรผู้ร้าย (ด้วยวิธีจัดการทางเศรษฐกิจให้ดี) คือแจกพืชแก่กสิกรในชนบทที่อุตสาหะประกอบอาชีพ ให้ทุนแก่พ่อค้าที่อุตสาหะในการค้าให้อาหาร และค่าจ้างแก่ข้าราชการ (ให้ทุกคนมีอาชีพมีรายได้) พระราชทรัพย์ก็จะเพิ่มพูน ชนบทก็จะไม่มีเสี้ยนหนาม มนุษย์ทั้งหลายก็จะรื่นเริงอุ้มบุตรให้ฟ้อนอยู่ที่อก ไม่ต้องปิดประตูเรือน.
  เมื่อพระเจ้ามหาวิชิตะทรงทำตามคำแนะนำนั้นก็ได้ผลดี จึงตรัสเรียกพราหมณ์ปุโรหิตมา ขอให้สอนเรื่องการบูชามหายัญ พราหมณ์ปุโรหิตจึงแนะให้ขออนุญาตบูชามหายัญ โดยแจ้งให้กษัตริย์ผู้น้อยกว่าที่อยู่ในนิคมชนบท,อำมาตย์ ข้าราชบริพารที่อยู่ในนิคมชนบท,พราหมณ์มหาศาลที่อยู่ในนิคมชนบท,คฤหบดี ที่อยู่ในนิคมชนบทได้ทราบเรื่อง และอนุญาตให้บูชามหายัญ เมื่อทรงปฎิบัติตามนั้นก็ได้รับอนุญาตจากบุคคลทั้งสี่ประเภทเหล่านั้น นี้นับเป็นฝ่ายอนุมัติ ๔ ซึ่งเป็นเครื่องประกอบของยัญนั้น.
                องค์พระเจ้ามหาวิชิตะเอง ประกอบด้วยคุณสมบัติ ๘ ประการ คือ ๑.มีชาติดี ๒.มีรูปงาม ๓.มีทรัพย์มาก ๔.มีกำลังรบ ๕.มีศรัทธาบริจาคทาน ๖.สดับรับฟังมาก (มีการศึกษาดี) ๗.รู้ความหมายของภาษิตนั้น ๆ (อธิบายความหมายได้) ๘.เป็นผู้ฉลาดมีปัญญา. คุณสมบัติ ๘ ประการนี้เป็นเครื่องประกอบของยัญนั้น
                คุณสมบัติของพราหมณ์ปุโรหิตอีก ๔. คือ ๑.มีชาติดี ๒.ท่องจำมนต์ได้ ๓.มีศีล ๔.เป็นผู้ฉลาดมีปัญญา คุณสมบัติ ๔ ประการนี้เป็นเครื่องประกอบของยัญนั้น (รวมเป็น ๑๖ คือฝ่ายอนุมัติ ๔ คุณสมบัติของพระราชา ๘ คุณสมบัติของปุโรหิต ๔)
                ต่อไปพราหมณ์ปุโรหิตจึงแสดงถึงยัญ ๓ ประการ คือต้องไม่มีความเดือดร้อนใจว่า โภคทรัพย์เป็นอันมาก ๑. จักหมดไป ๒.กำลังหมดไป ๓.หมดไปแล้ว
                แล้วพราหมณ์ปุโรหิตได้แสดงถึงการบรรเทาความเดือดร้อนใจของผู้บูชายัญที่จะพึงมีในฝ่ายผู้รับทาน ๑๐ ประการ คือผู้ฆ่าสัตว์, ผู้ลักทรัพย์ ผู้ประพฤติผิดในกาม, ผู้พูดปด, ผู้พูดส่อเสียด,ผู้พูดคำหยาบ,ผู้พูดเพ้อเจ้อ. ผู้ละโมบอยากได้ของคนอื่น,ผู้พยาบาทปองร้อยผู้อื่น. ผู้เห็นผิดทำนองคลองธรรม อาจมาสู่ยัญญพิธีโดยตั้งใจว่ายัญนี้อุทิศผู้ที่ปฎิบัติดี ตรงกันข้ามกับฝ่ายชั่ว ๑๐ ประการ
                เมื่อมีเครื่องประกอบยัญ  ๖ ประการดั่งนี้ ก็จะไม่มีผู้ใดกล่าวติเตียนได้โดยธรรม.
                ครั้นแล้วได้แสดงวิธีบูชายัญต่อไปว่า ในยัญนั้น ไม่มีการฆ่าโค,แพะ,แกะ,ไก่,สุกรและสัตว์ ต่าง ๆ ก็ไม่ต้องถึงความพินาศ, ไม่มีการตัดต้นไม้ เพื่อสร้างปราสาท (ต้อนรับผู้มาดูพิธี) ไม่ต้องเกี่ยวหญ้าคามาเพื่อแวดวงประดับโรงพิธี หรือเพื่อปูลาดกับพื้น พวกทาสกรรมกรก็ไม่ต้องถูกขู่เข็ญลงโทษ มีหน้านองด้วยน้ำตาทำการงาน ใครปรารถนาจะทำก็ทำ ไม่ปรารถนาก็ไม่ต้องทำ เพราะยัญนั้นสำเร็จด้วยเนยใส.น้ำมัน,เนยข้น,นมส้ม,น้ำผึ้ง,น้ำอ้อย
                ผู้ที่เดินทางมาในการนี้ นำเครื่องบรรณาการมาถวาย พระเจ้ามหาวิชิตะก็ไม่ทรงรับ กลับตรัสให้นำของพระองค์เพิ่มให้กลับไป แต่บุคคเหล่านั้นไม่นำกลับ กลับสละตาม (คือแจกทานตามพระเจ้ามหาวิชิตะ) ต่างตั้งยัญศาลาขึ้น ๔ ทิศ (กษัตริย์ทิศบูรพา,อำมาตย์ทิศทักษิณ,พราหมณ์มาหศาลทิศประจิม,คฤหบดีทิศอุดร) แจกทานร่วมในการนี้
                กูฏทันตพราหมณ์กราบทูลถามว่า ยังมียัญอื่นที่มีการริเริ่มน้อยกว่า แต่มีผลมากกว่ายัญ ๓ บริขาร ๑๖ ที่กล่าวแล้วหรือไม่ เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า มี ก็ถามต่อไปอีกถึงยัญที่มีการริเริ่มน้อยกว่า แต่มีผลมากกว่า เป็นการถามตอบหลายวาระ สิ่งที่มีการริเริ่มน้อย แต่มีผลมากกว่ากันโดยลำดับ ซึ่งผู้มีพระภาคตรัสตอบมีดังนี้
                ๑.การให้ทานเป็นนิตย์ อุทิศผู้มีศีล
                ๒.การสร้างวิหาร (ทีอยู่) อุทิศสงฆ์ที่มาจาก ๔ ทิศ
                ๓.การถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ
                ๔.การสมาทานศีล ๕ คือเว้นจากฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดปด และดื่มสุราเมรัย
๕.การออกบวชประพฤติพรหมจรรย์ ตั้งอยู่ในศีล ๓ ประการ บำเพ็ญสมาธิจนได้ฌาน ๔ บำเพ็ญปัญญาจนได้วิชชา ๘ (ดั่งกล่าวไว้แล้วในสามัญญผลสูตร)
กูฏทันตพราหมณ์มีความเลื่อมใสในพระธรรมเทศนา ประกาศตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัย เป็นสรณะตลอดชีวิต ปล่อยสัตว์อย่าง ๗๐๐ หลายประเภทนั้นให้เป็นอิสระ และเมื่อได้ฟังธรรมเทศนาต่อไป (อนุบุพิกถาและอริยสัจจ์ ๔) ก็ได้ดวงตาเห็นธรรม (เป็นพระโสดาบัน)


                (พระสูตรนี้ทำให้เห็นว่า เพียงการถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะหรือการรักษาศีล ๕ ก็ยังมีผลมากกว่าการบำเพ็ยมหายัญใหญ่โต จึงน่าจะเป็นเครื่องเตือนใจผู้คิดทำบุญซึ่งมักจะบ่นว่าไม่มีทุนจะทำบุญ ให้ทราบว่าบุญนั้นไม่จำเป็น่ต้องลงทุนเอาทรัยพ์แลกเสมอไป เพียงการรักษาศีล ๕ ก็เป็นบุญอันสูงกว่านั้น)








วันศุกร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

พระสุตตันตปิฎก - โสณทัณฑสูตร


พระไตรปิฎก - พระสุตตันตปิฎก - โสณทัณฑสูตร

โสณทัณฑสูตร อยู่ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๙ ทีฆนิกาย สีลขันธวัคค์ เป็นสุตตันตปิฎก




๔.โสณทัณฑสูตร

สูตรว่าด้วยพราหมณ์ชื่อโสณทัณฑะ





          พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นอังคะ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จแวะพัก ณ กรุงจัมปา ประทับที่ริมฝั่งสระน้ำชื่อคัคครา
                ครั้งนั้นพราหมณ์ชื่อโสณทัณฑะได้รับพระราชทานจากพระเจ้าพิมพิสารให้ครองกรุงจัมปา พราหมณ์คฤหบดีชาวกรุงจัมปาได้ทราบว่าพระผู้มีพระภาคประทับ ณ ริมสระน้ำชื่อคัคครา และพระองค์เป็นผู้มีกิตติศัพท์ขจรขจายไปว่า เป็นพระอรหันตสัมมสัมพุทธเจ้าและอื่น ๆ อีก จึงชวนกันเดินทางไปเพื่อจะเฝ้าเป็นกลุ่ม ๆ
                โสณทัณฑพราหมณ์ซึ่งเข้านอนกลางวันชั้นบนปราสาท มองเห็นพราหมณ์คฆหบดีชาวกรุงจัมปาเดินทางไปเป็นกลุ่ม ๆ เช่นนั้น จึงเรียกมหาอำมาตย์ สนองโอฐ  (ขัตตะ) มาถาม ทราบความแล้ว จึงสั่งให้คนเหล่านั้นคอย เพื่อตนจะได้ร่วมเดินทางไปด้วย
                พวกพราหมณ์ชาวต่างแดนประมาณ ๕๐๐ คนที่มาพักในกรุงจัมปาด้วยกรณียกิจบางอย่าง ทราบว่าโสณทัรฑพราหมณ์จะไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ก็เข้าไปห้ามไว้ อ้างความยิ่งใหญ่ของโสณทัณฑพราหมณ์โดยชาติ โดยมรัยพ์ โดยความรู้ในไตรเพท โดยความเป็นผู้มีรูปงาม โดยศีล โดยมีวาจาไพเราะ โดยเป็นอาจารย์ของคนมาก โดยมีมาณพเป็นอันมากมาจากต่างทิศ ต่างชนบท เพื่อเรียนมนต์ โดยเป็นผู้แก่กว่าพระสมณโคดม โดยเป็นผู้ได้รับความเคารพนับถือจากพระเจ้าพิมพิสารและโปกขรสาติพราหมณ์ โดยเป็นผู้ครองกรุงจัมปา จึงไม่ควรไปหาพระสมณโคดม ควรที่พระสมณโคดมจะมาหามากกว่า
                โสณทัณฑพราหมณ์ตอบอ้างความยิ่งใหญ่ของพระผู้มีพระภาคโดยพระชาติ โดยละทรัพย์สมบัติ ออกผนวช โดยมีพระรูปงดงาม โดยมีศีล มีถ้อยคำไพเราะ โดยเป็นอาจารย์ของคนมาก โดยเป็นผู้สิ้นกามราคะ โดยเป็นกัมมวาที กิริยวาที (กล่าวว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ) โดยออกบวชจากสกุลกษัตริย์อันสูง ไม่เจือปน (สกุลอื่น) โดยออกบวชจากสกุลมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีคนจากรัฐอื่น จากชนบทอื่นมากราบทูลถามปัญหา มีเทพดาอเนกนับหลายพันพากันถึงพระสมณโคดมเป็นสรณะ มีกิตติศัพท์ขจรขจายไปว่า เป็นพระอรหันตสัมมสัมพุทธเจ้า เป็นต้น โดยประกอบด้วยมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ โดยทรงต้อนรับปราศรัยให้บันเทิง มีบริษัท ๔ เคารพนับถือ มีเทวาและมนุษย์ทั้งหลายเลื่อมใสยิ่ง ประทับในคามนิคมใด ๆ อมนุษย์ก็ไม่เบียดเบียนในที่นั้น โดยมีผู้กล่าวว่า ทรงเป็นคณาจารย์เลิศกว่าเจ้าลัทธิเป็นอันมาก มีพระยศเฟื่องฟุ้งไปเพราะความรู้ ความประพฤติ (วิชชา จรณะ) ไม่เหมือนสมณพราหมณ์เหล่านั้น. พระเจ้าพิมพิสาร พร้อมทั้งโอรส มเหสี บริษัทและอำมาตย์, พระเจ้าปเสนทิโกศล พร้อมทั้งโอรส ฯลฯ โปกขรสาติพราหมณ์  พร้อมทั้งบุตร ภริยา ฯลฯ ก็ถึงพระสมณโคดมเป็นสรณะ เมื่อเสด็จมา จึงชื่อว่าเป็นแขกที่เราจะพึงถวายความเคารพสักการะเพราะเหตุนี้ จึงไม่ควรที่จะให้พระองค์เสด็จมาหาเรา ควรที่เราจะไปเฝ้าพระองค์ เมื่อโสณทัณฑพราหมณ์กล่าวพรรณนาพระพุทธคุณอย่างนี้ พราหมณ์ที่คัดค้านก็กล่าวว่า ถ้าพระสมณโคดมเป็นเช่นที่ท่านกล่าวนี้ แม้อยู่ไกลร้อยโยชน์ก็ควรจะสะพายเสบียงเดินทางไปเฝ้า.
                ขณะที่ไปเฝ้านั้น โสณทัณฑพราหมณ์เกิดความปริวิตกว่า ตนจะถามปัญหาไม่ได้ดีบ้าง จะตอบปัญหาไม่ได้ดีบ้าง ครั้นจะไปพอใกล้แล้วกลับเสีย ก็จะถูกหาว่าเป็นคนโง่ จึงกลัวไม่กล้าเข้าใกล้บ้าง ความผิดพลาดแต่ละข้อนี้จะทำให้บริษัทจับผิด เป็นเหตุให้เสื่อมยศ เสื่อมทรัพย์.
                แต่พระผู้มีพระภาคทรงรู้วาระจิตของพราหมณ์ จึงทรงเลือถามปัญหาที่โสนทัณฑพราหมณ์เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ คือปัญหาในไตรเพท ซึ่งทำให้โสณทัณฑพราหมณ์ดีใจมาก คือตรัสถามว่า ผู้ประกอบด้วย คุณสมบัติกี่อย่างจึงบัญญัติว่าเป็นพราหมณ์ได้ และควรเรียกตัวเองได้ว่าเป็นพราหมณ์
                โสณทัณฑพราหมณ์ตอบว่า ๑.มีชาติดี คือเกิดจากมารดาบิดาเป็นพราหมณ์ สืบสายมา ๗ ชั่ว บรรพบุรุษ ๒. ท่องจำมนต์ในพระเวทได้ ๓.มีรูปงาม ๔.มีศีล ๕.เป็นผู้ฉลาดมีปัญญา
ตรัสถามว่า ใน ๕ อย่างนี้ ถ้าลดลงเสีย ๑ เหลือ ๔ พอจะกำหนดคุณสมบัติของผู้ควรเป็นพราหมณ์ได้หรือไม่. โสนทัณฑพราหมณ์ตอบว่า ตัดข้อมีผิวพรรณดีออก.
                ตรัสถามว่า ถ้าลดลงเสียอีก ๑ เหลือ ๓ จะลดอะไร โสณทัณฑพราหมณ์ลดข้อท่องจำมนต์
                ตรัสถามว่า ถ้าลดลงเสียอีก ๑ เหลือ ๒ จะลดอะไร โสณทัณฑพราหมณ์ลดข้อที่เกี่ยวกับชาติ คือ กำเนิดจากมารดาบิดาเป็นพราหมณ์
                พอลดข้อนี้ พวกพราหมณ์ที่มาด้วย ก็ช่วยกันขอร้องว่า อย่ากล่าวอย่างนี้น เพราะเป็นการกล่าวกระทบผิวพรรณ กระทบมนต์ กระทบชาติ จะเสียทีแก่พระสมณโคดม
                โสณทัณฑพราหมณ์ก็โต้ตอบว่า หลานของตนคืออังคกะมาณพที่นั่งอยู่ในที่ประชุมนี้ มีผิวพรรณดี ท่องจำมนต์ได้ดี เกิดจากมารดาบิดาทั้งสองฝ่าย ซึ่งเป็นพราหมณ์สืบต่อมา ๗ ชั่วบรรพบุรุษ แต่ก็ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ ดื่มน้ำเมา ผิวพรรณ มนต์ ชาติ จะทำอะไรได้ เมื่อใดพราหมณ์เป็นผู้มีศีล มีปัญญา รวม ๒ คุณสมบัตินี้ จึงควรบัญญัติว่าเป็นพราหมณ์ และควรเรียกตัวเองว่าเป็นพราหมณ์
                พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ถ้าลดเสีย ๑ เหลือ ๑ พอจะกำหนดคุณสมบัติของผู้ควรเป็นพราหมณ์ได้หรือไม่. โสณทัณฑพราหมณ์กราบทูลว่า ลดไม่ได้ เพราะศีลชำระปัญญา ปัญญาชำระศีล ในที่ใดมีศีลในที่นั้นมีปัญญา ในที่ใดมีปัญญาในที่นั้นมีศีล ศีลกับปัญญากล่าวไดว่าเป็นยอดในโลก เปรียบเหมือนใช้มือล้างมือ ใช้เท้าล้างเท้า ศีลกับปัญญาก็ชำระกันและกันฉันนั้น.
                พระผู้มีพระภาคตรัสรับรองภาษิตของโสณทัณฑพราหมณ์ว่าถูกต้อง แล้วตรัสถามต่อไปว่า ศีลเป็นอย่างไร? ปัญญาเป็นอย่างไร? โสณทัณฑพราหมณ์จึงกราบทูลให้พระผู้มีพระภาคตรัสอธิบาย.
                พระผู้มีพระภาคจึงตรัสถึงการที่บุคคลเลื่อมใสในพระองค์ ออกบวชประพฤติพรหมจรรย์ ตั้งอยู่ในศีล ๓ ชั้น (ดังในสามัญญผลสูตร)บำเพ็ญสมาธิจนได้บรรลุฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ และได้วิชชา ๘ มีวิปัสสนาญาณ เป็นต้น มีอาสวักขยญาณเป็นที่สุด (ดั่งได้กล่าวไว้แล้วในสามัญญผลสูตร) เป็นอันตรัสอธิบายถึงศีลและอธิบายถึงปัญญา (รวบยอดที่ปัญญาอันทำให้สิ้นอาสวะคือกิเลสที่หมักดองในสันดาน)
                เมื่อพระผู้มีพระภาคแสดงธรรมจบ โสณทัณฑพราหมณ์กราบทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนา แสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสระตลอดชีวิต แล้วอาราธนาพระผู้มีพระภาค พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ฉันในวันรุ่งขึ้น
                ครั้นรุ่งขึ้นถวายภัตตาหารเสร็จแล้ว จึงกราบทูลว่า ถ้าตนอยู่ในบริษัท ลุกขึ้นจากอาสนะกราบถวายบังคมก็ตาม ถ้าไปในยาน ลงจากยานกราบถวายบังคมก็ตาม พวกบริษัทก็จะจับผิดได้ เป็นเหตุให้เสื่อมยศ เมื่อยศเสื่อก็จะทำให้เสื่อมทรัพย์ เพราะได้ทรัพย์มาเพราะยศ ถ้าตนไปในบริษัทประคองอัญชลี ขอให้ทรงถือว่าตนลุกขึ้นจากอาสนะ ถ้าไปในยานยกปฎักขึ้น ขอให้ทรงถือว่าตนลงจากยาน ถ้าเบี่ยงร่ม   ขอให้ทรงถือว่าตนกราบถวายบังคมด้วยเศียรเกล้า
                (หมายเหตุ พระสูตรนี้แสดงว่าโสณทัณฑพราหมณ์ยอมตัดความสำคัญเรื่องผิวพรรณ เรื่องมนต์ เรื่องชาติกำเนิดของพราหมณ์ทิ้ง ให้เหลือแต่ศีลกับปัญญา ก็ทำให้คนเป็นพราหมณ์ได้ อันเข้ากับหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา พระผู้มีพระภาคจึงประทานสาธุการรับรองภาษิตของพราหมณ์นั้น ศาสตราจารย์ ริดส์ เดวิดส์ เห็นว่า แม้ทางพระทุทธศาสนาจะเสนอหลักการแบบนี้ ก็ทำการเลิกล้มความคิดเห็นของพราหมณ์ไม่สำเร็จ พราหมณ์ยังคงถือชาติเป็นสำคัญตลอดมา แต่ผู้เขียนเห็นว่า พระพุทธเจ้ามิได้ทรงแทรกแซงความเชื่อถือของพราหมณ์ ใครจะถือก็ถือไป แต่หลักธรรมมีอยู่อย่างนี้ ก็ทรงแสดงให้ฟัง ผลที่ปรากฏก็มีอยู่ คือพราหมณ์ที่เข้ามานับถือพระพุทธศาสนามิใช่น้อย พากันถือตามหลักธรรมพระพุทธศาสนา เข้าทำนองว่าเมื่อเราไม่สามารถจะเกี่ยวหญ้ามุงทุ่งทั้งทุ่งได้ อย่างน้อยเอามามุงหลังคาเฉพาะของเราเอง ก็ยังดีกว่าตากแดด ตากฝนไปตามคนอื่น ยิ่งในสมัยนี้ รัญธรรมนูญอินเดียไม่ยอมรับรองสิทธิพิเศษของชาติชั้นวรรณะ ผู้นำอินเดียพากันสดุดีหลักธรรมเรื่องนี้ของพระพุทธเจ้า ก็ยิ่งเห็นกันขึ้นว่า หลักธรรมนี้ประเสริฐอย่างไร)



                                            






วันพฤหัสบดีที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

พระสุตตันตปิฎก - อัมพัฎฐสูตร


พระไตรปิฎก - พระสุตตันตปิฎก - อัมพัฎฐสูตร

อัมพัฎฐสูตร อยู่ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๙ ทีฆนิกาย สีลขันธวัคค์ เป็นสุตตันตปิฎก

๓.อัมพัฎฐสูตร

สูตรว่าด้วยการโต้ตอบกับอัมพัฎฐมาณพ

      




                พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นโกศล พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จแวะพัก ณ หมู่บ้านพราหมณ์ชื่ออิจฉานังคละ ใกล้เมใออุกกัฎฐา ซึ่งโปกขรสาติพราหมณ์ได้รับมอบหมายจากพระเจ้าปเสนทิให้เป็นผู้ครอบครอง.                โปกขรสาติพราหมณ์ได้ยินกิตติศัพท์สรรเสริญพระพุทธเจ้า จึงใช้อัมพัฏฐมาณพผู้เป็นศิษย์ให้ไปเฝ้าเพื่อสังเกตดูว่าจะมีมหาปุริสลักษณะครบตามคัมภีร์มนต์ของตนหรือไม่.                อัมพัฏฐมาณพไปแสดงอาการอวดดี คือพระผู้มีพระภาคประทับนั่ง แต่ตนเดินบ้าง ยืนบ้าง สนทนาด้วย เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสเตือน จึงประกาศตนว่าเป็นพราหมณ์ ควรแสดงอาการอย่างนี้ต่อคนชั้นไพร่ ศีรษะโล้น ซึ่งเกิดจากเท้าของพระพรหม (เป็นความนิยมของพวกพราหมณ์ว่า ถ้าโกนศีรษะจะถูกเหยียดหยามเป็นคนชั้นต่ำ) และเพิ่มความโกรธเคืองยิ่งขึ้น เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อัมพัฏฐมาณพยังไม่จบพรหมจรรย์ของพราหมณ์ แต่สำคัญตนว่าจบแล้ว” จึงด่าสกุลศากยะว่าเป็นสกุลทาสสกุลไพร่ ไม่เคารพพราหมณ์                เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ศากยสกุลเคยทำผิดอะไรไว้ จึงเล่าว่า ครั้งหนึ่งตนเดินทางไปกรุงกบิลพัสดุ์ด้วยธุระบางอย่างของโปกขรสาติพราหมณ์ ได้เข้าไปสู่อาคารโถงของเจ้าศากยะ เจ้าศากยะและศากยกุมารมากหลายนั่งบนอาสนะสูง ในอาคารโถง ต่างซิกซี้จี้กันด้วยนิ้วมือ ชะรอยจะหัวเราะตนก็เป็นได้. ไม่มีใครสักคนหนึ่งกล่าวเชิญตนด้วยอาสนะ การไม่เคารพนับถือ ไม่อ่อนน้อมพราหมณ์ของเจ้าศากยะไพร่ๆ อย่างนั้นเป็นการไม่สมควร. นี่เป็นการประณามศากยสกุลว่าเป็นไพร่ครั้งที่ ๒.                พระผู้มีพระภาคตรัสว่า แม้นกไส้ เมื่ออยู่ในรังของตนก็ยังส่งเสียงร้องตามชอบใจ เจ้าศากยะเหล่านั้น คือว่ากรุงกบิลพัสดุ์เป็นของตน จึงยังไม่น่าจะถือโทษด้วยเหตุเพียงเล็กน้อยเท่านี้.                อัมพัฏฐมาณพอ้างเหตุผลต่อไปว่า ในวรรณะทั้งสี่นั้น วรรณะทั้งสาม คือ กษัตริย์ แพศย์ (พ่อค้า) และศูทร (คนงาน) ย่อมตกอยู่ในฐานะเป็นผู้บำเรอพวกพราหมณ์ การที่เจ้าศากยะไพร่ๆ ไม่เคารพนับถือ ไม่อ่อนน้อมพราหมณ์ จึงเป็นการไม่สมควร นี่เป็นการประณามศากยสกุลว่าเป็นไพร่ครั้งที่ ๓.                พระผู้มีพระภาคเห็นอัมพัฏฐมาณพกล่าวรุกรานศากยสกุลอย่างหนักเช่นนั้น จึงตรัสถามว่า ท่านสกุล (โคตร) อะไร เมื่ออัมพัฏฐมาณพกราบทูลว่า กัณหายนโคตร พระองค์จึงตรัสเตือนให้ระลึก (ประวัติศาสตร์)ว่า ต้นสกุลของศากยะ คือพระเจ้าโอกกากราช ซึ่งเป็นกษัตริย์ แต่ต้นสกุลของกัณหายนะ คือนางทาสีของพระเจ้าโอกกากราชผู้มีนามว่า ทิสา ก็เมื่อต้นสกุลศากยะเป็นลูกกษัตริย์ ต้นสกุลกัณหายนะ เป็นลูกนางทาสีเช่นนั้น ก็จงระลึกถึงสกุลดั้งเดิมดูเถิด.                มาณพทั้งหลายที่ตามมาด้วย ก็พูดอื้ออึง ห้ามพระผู้มีพระภาคว่า ขอพระโคดมอย่าได้กล่าวหาว่าอัมพัฏฐมาณพเป็นลูกทาสีเลย เพราะอัมพัฏฐมาณพมีชาติอันดี สดับรับฟังมาก มีถ้อยคำอันดีงาม และเป็นบัณฑิต.                พระผู้มีพระภาคจึงตรัสถามอัมพัฏฐมาณพว่า ที่พระองค์ตรัสอย่างนี้ เป็นความจริงหรือไม่ อัมพัฏฐมาณพนิ่งอึ้ง  พระผู้มีพระภาคตรัสย้ำถามถึงครั้งที่ ๓ จึงยอมตอบรับว่าเป็นความจริง.                มาณพที่มาด้วย จึงอื้ออึง ประณามว่า อัมพัฏฐมาณพเป็นลูกทาสี มีชาติไม่ดี พระสมณโคดมพูดเป็นธรรม เราหลงรุกรานว่าพูดไม่ถูก.                พระผู้มีพระภาคทรงเห็นมาณพเหล่านั้นกลับไปรุกรานอัมพัฏฐมาณพเช่นนั้น ก็ตรัสห้าม และทรงเล่าถึงความยิ่งใหญ่ของกัณหะ (บุตรทาสี) ผู้เดินทางไปเรียนพรหมมนต์ ณ ชนบทภาคใต้ แล้วกลับมาขอพระราชธิดาของพระเจ้าโอกกากราชนามว่า มัททรูปี ครั้งพระเจ้าโอกกากราชไม่พระราชทาน ในที่สุดก็พระราชทาน เพราะเกรงฤทธิ์ของกัณหะ (เป็นการตรัสช่วยแก้หน้าให้แก่อัมพัฏฐมาณพ).                ต่อจากนั้นตรัสถามถึงประเพณีนิยม เพื่อให้อัมพัฏฐมาณพตอบเป็นข้อๆ เกี่ยวกับกับกษัตริย์ กับพราหมณ์ใครจะสูงกว่ากัน (เพื่อให้คลายความถือดี) คือ                ๑. บุตรที่เกิดจากบิดาเป็นกษัตริย์ มารดาเป็นพราหมณ์ จะได้อาสนะ (ที่นั่ง) และน้ำ ในพวกพราหมณ์หรือไม่? ตอบว่า ได้. พวกพราหมณ์จะยอมให้บริโภคอาหารในพิธีสารท (อาหารอุทิศให้ผู้ตาย) ในพิธีถาลิปากะ (อาหารเนื่องในงานมงคล) ในยัญญพิธี (อาหารในการบูชายัญ) และในปาหุนะ (อาหารต้อนรับแขก) หรือไม่? ตอบว่า ยอมให้บริโภค. พวกพราหมณ์จะสนอมนต์ให้หรือไม่? ตอบว่า สอน. จะห้ามผู้นั้นแต่งงานกับสตรีพราหมณ์หรือไม่? ตอบว่า ไม่ห้าม. จะได้รับอภิเษกเป็นกษัตริย์หรือไม่? ตอบว่า ไม่. ถาม เพราะเหตุไร? ตอบว่า เพราะยังไม่บริสุทธิ์ฝ่ายมารดา.                ๒.บุตรที่เกิดจากบิดาเป็นพราหมณ์ มารดาเป็นกษัตริย์ จะได้ที่นั่ง ได้น้ำ เป็นต้นหรือไม่? ตอบว่า ได้. จะห้ามผู้นั้นแต่งงานกับสตรีพราหมณ์หรือไม่? ตอบว่า ไม่ห้าม. จะได้อภิเษกเป็นกษัตริย์หรือไม่? ตอบว่า ไม่. ถามว่า เพราะเหตุไร? ตอบว่า เพราะยังไม่บริสุทธิ์ฝ่ายบิดา                (ตรัสสรูปเพียงชั้นนี้ก่อนว่า) นี่แหละเมื่อเปรียบหญิงกับหญิง เปรียบชายกับชายกันแล้ว กษัตริย์ก็ประเสริฐกว่า และพราหมณ์เลวกว่า. (เพราะอัมพัฏฐมาณพยอมรับรองตามประเพณีนิยมว่า กษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับพราหมณ์ ทำให้กษัตริย์ไม่บริสุทธิ์).                ครั้นแล้วตรัสถามต่อไปอีกว่า                ๓. พราหมณ์ที่ถูกลงโทษโกนศีรษะ ถูกเอาขี้เถ้าโรยศีรษะ ถูกเนรเทศจากรัฎฐะ หรือจากนคร จะได้ที่และน้ำในพวกพราหมณ์หรือไม่? ตอบว่า ไม่ได้. จะร่วมบริโภคอาหารในพิธีกรรมต่างๆ หรือไม่? ตอบว่า ไม่ได้. พราหมณ์จะสอนมนต์ให้หรือไม่? ตอบว่า ไม่. จะถูกห้ามแต่งงานกับสตรีพราหมณ์หรือไม่? ตอบว่า ถูกห้าม.                ๔. กษัตริย์ที่ถูกลงโทษโกนศีรษะ ถูกเอาขี้เถ้าโรยบนศีรษะ ถูกเนรเทศจากรัฎฐะ หรือจากนครจะได้ที่นั่งและน้ำในพวกพราหมณ์หรือไม่? ตอบว่า ได้. จะได้ร่วมบริโภคอาหารในพิธีกรรมต่างๆ หรือไม่? ตอบว่า ได้. พราหมณ์จะสอนให้หรือไม่? ตอบว่า สอน. จะถูกห้ามแต่งงานกับสตรีพราหมณ์หรือไม่? ตอบว่า ไม่ห้าม.                จึงตรัสสรูปให้เห็นว่ากษัตริย์ประเสริฐกว่าพราหมณ์ แล้วตรัสรับรองภาษิตของพรหมชื่อสนังกุมารที่ว่า                “ในหมู่ชนที่ถือโคตร กษัตริย์ประเสริฐสุด แต่ผู้ใดสมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะ (ความรู้และความประพฤติ) ผู้นั้นประเสริฐสุดในเทวดาและมนุษย์.” (สุภาษิตนี้ ถือว่าความรู้ความประพฤติสำคัญกว่าชาติสกุล).                เมื่ออัมพัฏฐมาณพกราบทูลถามว่า ความประพฤติและความรู้นั้นเป็นอย่างไร จึงตรัสตอบเป็นใจความว่า                “ใครก็ตามยังถือชาติ ถือโคตร ถือตัว ถืออาวาหะ วิวาหะ คนเหล่านั้นย่อมอยู่ห่างไกลจากความรู้และความประพฤติอันยอดเยี่ยม ต่อเมื่อละความถือชาติ ถือโคตร ถือตัว ถืออาวาหะ วิวาหะได้ จึงจะทำให้แจ้งได้ซึ่งความรู้และความประพฤติอันยอดเยี่ยม.”                ครั้นแล้วตรัสอธิบายถึงการที่กุลบุตรออกบวชตั้งอยู่ในศีลธรรม บำเพ็ญฌาน ๔ และวิชชา ๘ (ดังที่กล่าวแล้วในสามัญญผลสูตร) ว่า ชื่อว่าสมบูรณ์ด้วยความรู้และความประพฤติอย่างยอดเยี่ยม ไม่มีความรู้ความประพฤติอื่นยิ่งกว่า                ครั้นแล้วได้ทรงแสดงปากทางแห่งความเสื่อม ๔ ประการของความสมบูรณ์ด้วยความรู้และความประพฤตินั้น คือสมณพราหมณ์ผู้มิได้บรรลุความรู้และความประพฤตินั้น ๑.หาบบริขารของนักบวชออกป่ากินผลไม้ที่ตก ๒. ทำอย่างข้อ ๑ ไม่ได้ จึงถือจอบและตะกร้าออกป่ากินเผือกมันผลไม้ ๓.ทำอย่าง ข้อ ๑-๒ ไม่ได้ จึงสร้างโรงบูชาไฟขึ้นที่ท้ายคามหรือนิคม บำเรอไฟอยู่ (คอยหาเชื้อเพลิงใส่ไฟมิให้ดับ เป็นการบำเรอไฟหรืออัคนีเทพ) ๔. ทำอย่างข้อ ๑-๒-๓ ไม่ได้ ก็ปลูกบ้าน มีประตู ๔ ด้าน ในถนน ๔ แยก เพื่อคอยบูชาสมณพราหมณ์ซึ่งเดินทางมาแต่ ๔ ทิศ ตามกำลังความสามารถ. (อรรถกถาอธิบายว่า เอาดีทางคุณธรรมชั้นสูงไม่ได้ ก็เอาดีทางบวชเป็นดาบส).                ครั้นแล้วตรัสถามอัมพัฏฐมาณพว่า ตัวอัมพัฏฐมาณพพร้อมทั้งอาจารย์ สมบูรณ์ด้วยความรู้และความประพฤติดังกล่าวแล้วหรือเปล่า เมื่อตอบว่า เปล่า และว่ายังห่างไกลจากคุณสมบัติเช่นนั้น จึงตรัสถามต่อไปว่า เพียงกระทำแบบดาบส ๔ ประเภทนั้น ทำได้หรือเปล่า ตอบว่า ทำไม่ได้ จึงตรัสสรุปให้ฟังว่าตัวอัมพัฏฐมาณพพร้อมทั้งอาจารย์ เสื่อมจากความสมบูรณ์ด้วยความรู้ความประพฤติ (วิชชาจรณะ) อันยอดเยี่ยมและเสื่อมจากปากทางแห่งความเสื่อม ๔ อย่างของความรู้และความประพฤตินั้น (เป็นการเตือนให้เห็นว่าที่ทะนงตนมาแต่เดิมนั้น ที่แท้ก็ไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลย แม้ขนาดคุณสมบัติชั้นเลว ๆ ของผู้ไม่สามารถมีความรู้ความประพฤติอันยอดเยี่ยมนั้น คือเพียงแค่ทำอย่างดาบส ก็ทำไม่ได้).                ครั้นแล้วทรงแสดงถึงความผิดพลาดของโปกขรสาติพรามหมณ์ผู้เป็นอาจารย์ของอัมพัฏฐมาณพ (๒ ประการ) คือ ๑. พูดว่า “สมณะศีรษะโล้นเป็นไพร่ เป็นพวกดำ เป็นผู้เกิดจากเท้าพรหม จะเจรจากับพราหมณ์ผู้รู้วิชชา ๓ (รู้ไตรเพท) ได้อย่างไร” แต่ตัวเองก็เสื่อมหรือไม่มีวิชชานั้นบริบูรณ์อะไรเลย. ๒. บริโภคของพระราชทานจากพระเจ้าปเสนทิโกศล แต่พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ไม่โปรดให้โปกขรสาติพราหมณ์นั้นอยู่ในที่เฉพาะพระพักตร์ เมื่อจะทรงปรึกษาอะไรด้วยก็ทรงปรึกษาโดยมีม่านกั้น.โปกขรสาติพราหมณ์รับภิกษาที่เป็นของพระราชทานโดยธรรม แต่ทำไมเล่าพระเจ้าปเสนทิโกศลจึงไม่ทรงอนุญาตให้พราหมณ์นั้นอยู่ในที่เฉพาะพระพักตร์.๑.แสดงว่าความจริงพระเจ้าปเสนทิโกศลก็ทรงปฎิบัติต่อพราหมณ์ไม่ใช่ในฐานะสูงศักดิ์กว่าพระองค์อย่างไรเลย แม้เช่นนั้น พราหมณ์นั้นก็ยังยกย่องตัวเองว่าสูงกว่ากษัตริย์แล้วตรัสถามอัมพัฏฐมาณพว่า เพียงที่คนวรรณะศูทรหรือทาสของศูทรยืนในที่ซึ่งพระเจ้าปเสนทิประทับบนคอช้าง หรือประทับยืนบนเครื่องลาดเพื่อเสด็จขึ้นสู่รถ หรือในที่ซึ่งทรงปรึกษาเรื่องอะไร ๆ กับปมอำมาตย์ผู้ใหญ่หรือกับเจ้านาย แล้วคนวรรณะศูทรหรือทาสของศูทรเหล่านั้นกล่าวถ้อยคำว่า พระเจ้าปเสนทิโกศลมีรพะราชดำรัสอย่างนี้ ๆ (พูดเลียนพระราชดำรัส) จะทำให้ศูทรหรือทาสของศูทรกลายเป็นพระราชาหรือราชมหาอำมาตย์ไปได้หรือไม่. เมื่ออัมพัฏฐมาณพตอบว่า เป็นไม่ได้ จึงตรัสเปรียบเทียบให้ฟังว่าพวกพราหมณ์สมัยนี้พากันสวดหรือกล่าวตามบทแห่งมนต์เก่าแก่ ซึ่งพวกฤษีรุ่นก่อน ๆ ได้เคยสวดมาแล้ว เช่น ฤษีอั”ฐกะ วามกะ วามเทพ เวสสมิตต์ (วิศวามิตร) ยมตัคคี อังครส ภารัทวาะ วาเสฎฐะ กัสสปะ ภคุ ตัวอัมพัฏฐมาณพ พร้อมด้วยอาจารย์ก็เรียนมนต์เหล่านั้น เพียงเท่านั้นจะทำให้อัมพัฏฐมาณพเป็นฤษีหรือผู้ปฎิบัติเพื่อเป็นฤษีได้หรือไม่. อัมพัฏฐมาณพตอบว่า เป็นไม่ได้.                แล้วตรัสถามว่า พวกฤษีรุ่นก่อนๆ เพียบพร้อมไปด้วยกามคุณ ๕ บริโภคอาหารดี ๆ มีสตรีผู้ประดับด้วยผ้าและสายรัดเอวคอยบำเรอ ขี่รถเทียมด้วยม้า ใช้ปฏักยาว ๆ แทงสัตว์พาหนะ เที่ยวไปในที่ต่าง ๆ มีบุรษผู้สอดดาบยาวคอยอารักขาในนคร ซึ่งมีเครื่องอุปกรณ์พร้อมสรรพ มีคูอันขุดไว้ มีซี่เหล็กอันยกขึ้นไว้ (ที่ประตู) เหมือนอย่างตัวท่าน พร้อมด้วยอาจารย์ในสมัยนี้หรือไม่. อัมพัฏฐมาณพตอบว่า ฤษีรุ่นก่อน ๆไม่ทำอย่างนี้ จึงตรัสสรุปให้เห็นว่า อัมพัฏฐมาณพ พร้อมทั้งอาจารย์มิได้เป็นฤษี หรือผู้ปฎิบัติเพื่อเป็นฤษี                อัมพัฏฐมาณพได้สังเกตพระพุทธลักษณะ แต่ยังมีอยู่บางข้อที่เห็นไม่ได้ เช่น พระคุยหฐาน ตั้งอยู่ในฝัก และพระชิวหา (ใหญ่ยาว) พอจะปิดพระพักตร์ และช่องพระนาสิกพระโสตได้ พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงอิทธิภิสังขาร (แสดงฤทธิ์) และทรงกระให้เห็นได้                อัมพัฏฐมาณพกลับไปเล่าให้โปกขรสาติพราหมณ์ฟังทุกประการ โปกขรสาติพราหมณ์โกรธที่อัมพัฏฐมาณพไปรุกรานพระผู้มีพระภาค จึงใช้เท้าเตะ และใคร่จะไปเฝ้า แต่พวกพราหมณ์ค้านว่าค่ำแล้วควรไปในวันรุ่งขึ้น.                แต่โปกขรสาติพราหมณ์คงไปจนได้ โดยให้จุดคบเพลิง เมื่อไปเฝ้ากราบทูลถามเรื่องที่โต้ตอบกับอัมพัฏฐมาณพแล้ว จึงกราบทูลขอโทษแทนอัมพัฏฐมาณพ ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็มีพระพุทธดำรัสว่า อัมพัฏฐมาณพจงเป็นสุขเถิด.                โปกขรสาติพราหมณ์พิจารณพระพุทธลักษณะและได้เห็นครบ ๓๒ (ต้องตามลักษณะมนต์ของตน) แต่ ๒ ข้อเห็นไม่ได้ พระผู้มีพระภาคต้องทางแสดงฤทธิ์และทำให้เห็น แล้วจึงอาราธนาพระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ไปฉันในวันรุ่งขึ้น และเช้าวันรุ่งขึ้น เมื่อถวายดภัตตาหารเสร็จแล้ว ได้สดับพระธรรมเทศนาเรื่องอนุบุพพิกถา  และอริยสัจจ์ ๔ ได้ดวงตาเห็นธรรม จึงประกาศตน พร้อมทั้งบุตร ภริยา บริษัทและอำมาตย์เป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต


พระไตรปิฎก


วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

พระสุตตันตปิฎก - สามัญญผลสูตร


พระไตรปิฎก - พระสุตตันตปิฎก - สามัญญผลสูตร

สามัญญผลสูตร อยู่ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๙ ชื่อทีฆนิกาย สีลขันธวัคค์ แปลว่า "หมวดหรือพวกขนาดยาว" เป็นสุตตันตปิฎก

***************************************************


๒.สามัญญผลสูตร
สูตรว่าด้วยผลของความเป็นสมณะ




 พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ป่ามะม่วงของหมอชีวก ใกล้กรุงราชคฤห์ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่คืนวันเพ็ญ ๑๕ ค่ำ อันเป็นวันอุโบสถ เดือน ๑๒ พระเจ้าอชาตศัตรูเสด็จไปเฝ้า ทูลถามถึงผลดีของความสมณะที่เห็นได้ในปัจจุบัน และตรัสเล่าว่า เคยไปถามครูทั้งหกมาแล้ว แต่ตอบไม่ตรงคำถาม เปรียบเหมือนถามถึงเรื่องมะม่วง แต่ตอบเรื่องขนุน พระผู้มีพระภาคตรัสตอบเป็นข้อๆ ดังนี้      
๑. ผู้เคยเป็นทาสหรือกรรมกรของพระเจ้าอชาตศัตรู เมื่อออกบวชประพฤติตนดีงามแล้ว จะทรงเรียกร้องให้กลับไปเป็นทาสหรือกรรมกรตามเดิมหรือไม่. พระเจ้าอชาตศัตรูตรัสตอบว่า ไม่เรียกกลับ แต่จะแสดงความเคารพถวายปัจจัย ๔ และถวายความคุ้มครองอันเป็นธรรม ตรัสสรุปว่า นี่เป็นผลของความเป็นสมณะที่เห็นได้ในปัจจุบัน
๒. คนทำนาของพระเจ้าอชาตศัตรู เมื่อออกบวชประพฤติตนดีงามแล้ว จะทรงเรียกร้องให้กลับไปทำนาให้ตามเดิมหรือไม่ ตรัสตอบเหมือนข้อแรก จึงนับเป็นผลของความเป็นสมณะที่เห็นได้ในปัจจุบัน 

๓. คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดี ฟังธรรมเลื่อมใสแล้วออกบวชประพฤติพรหมจรรย์ สมบูรณ์ด้วยศีล (พรรณนาศีลอย่างเล็กน้อย อย่างกลาง อย่างใหญ่ เหมือนในพรหมชาลสูตร), สำรวมอินทรีย์ คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มิให้บาปอกุศลเกิดขึ้นท่วมทับจิต, มีสติสัมปชัญญะ, มีความสันโดษ ยินดีด้วยปัจจัย ๔ ตามมีตามได้, ออกป่าบำเพ็ญสมาธิ ละกิเลสที่เรียกว่านีวรณ์ ๕ เสียได้ จึงได้บรรลุฌานที่ ๑ นี้ก็เป็นผลของความเป็นสมณะที่เห็นได้ในปัจจุบัน

๔. ได้บรรลุฌานที่ ๒

๕. ได้บรรลุฌานที่ ๓

๖.ได้บรรลุฌานที่ ๔

๗. น้อมจิตไปเพื่อเกิดความรู้เห็นด้วยปัญญา (ญาณทัสสนะ) ว่า กายมีความแตกทำลายไปเป็นธรรมดา วัญญาณก็อาศัยและเนื่องในกายนี้ (วิปัสสนาญาณ ญาณอันทำให้เห็นแจ้ง)
        ๘. นิรมิตร่างกายอื่นจากกายนี้ได้ (มโนมยิทธิ คือฤทธิ์ทางใจ)
        ๙. แสดงฤทธิ์ได้ เช่น น้อยคนทำให้เป็นมากคน มากคนทำให้เป็นน้อยคน เดินน้ำ ดำดิน เป็นต้น ( อิทธิวิธิ)
        ๑๐. มีหูทิพย์ ได้ยินเสียใกล้ไกล ที่เกินวิสัยหูของมนุษย์ธรรมดา (ทิพยโสด)
        ๑๑. กำหนดรู้ใจผู้อื่นได้ (เจโตปริยญาณ)
        ๑๒.ระลึกชาติในอดีตได้ (ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ)
       ๑๓. เห็นสัตว์อื่นตายเกิดด้วยตาทิพย์ (เรียกว่าทิพยจักษุ หรือจุตูปปาตญาณ คือญาณรู้ความตายและความเกิดของสัตว์).
       ๑๔. รู้จักทำอาสวะ คือกิเลสที่หมักหมม หรือหมักดองในสันดานให้สิ้นไป (อาสวักขยญาณ).
แล้วตรัสสรูปในที่สุดแห่งทุกข้อว่า เป็นผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นได้ในปัจจุบันสูงกว่ากันเป็นลำดับ
เมื่อจะย่อผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นได้ในปัจจุบันทั้งสิบสี่ข้อนี้เป็นหมวดๆ ก็อาจย่อได้ ๓ หมวดคือ
หมวดที่ ๑ ทำให้พ้นจากฐานะเดิม คือพ้นจากความเป็นทาส เป็นกรรมกร พ้นจากความเป็นชาวนา ได้รับการปฎิบัติด้วยดี แม้จากพระมหากษัตริย์ คือผลข้อ ๑ กับข้อ ๒.
หมวดที่ ๒ เมื่ออบรมจิตใจจนเป็นสมาธิ ก็เป็นเหตุให้ได้ฌานที่ ๑ ถึง ๔ อันทำให้ละกิเลสอย่างกลางได้ คือผลข้อ ๓.๔.๕. และ ๖.
             หมวดที่ ๓ ทำให้ได้วิชชา ๘ อันเริ่มแต่ข้อ ๗ ได้วิปัสสนาญาณ จนถึงข้อ ๑๔ ได้อาสวักขยณาณ
                พระเจ้าอชาตศัตรูทรงเลื่อมใส ปฏิญาณพระองค์เป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต แล้วกราบทูลขอขมาในการที่ปลงพระชนม์ชีพพระราชบิดา (คือพระจ้าพิมพิสาร) ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ตรัสรับขมา.


                เมื่อพระเจ้าอชาตศัตรูเสด็จกลับ พระผู้มีพระภาคตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า ถ้าพระเจ้าอชาตศัตรูไม่ปลงพระชนม์พระราชบิดา ก็จะได้ดวงตาเห็นธรรม (เป็นพระโสดาบัน)